ครม.ผ่านร่างพ.ร.บ.พื้นที่เขตศก.พิเศษภาคตะวันออก

04 ต.ค. 2559 | 11:58 น.
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเป็นร่างที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงนับจากนี้ไปอันจะนำไปสู่การลงทุนรอบใหม่ของประเทศ และนำไปสู่เป้าหมายของการเป็นไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนต่อไปในอนาคต

“สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการที่ มีความสำคัญเช่นเดียวกับที่เคยทำเมื่อ 25ปีที่แล้ว นั่นก็คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) โดยโครงการนี้ได้นำประเทศไปสู่ ช่วงการพัฒนาประเทศที่โชติช่วงชัลวาลย์ แล้วนำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อมาตลอดระยะเวลา 25 ปี และส่งผลดีกับประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำในอาเซียน และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนตร์ อิเล็กทรอนิก และปิโตรเคมีคอล”

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยกฎหมายฉบับนี้ มี 5 หมวด 61 มาตรา คือ หมวดทั่วไป หมวดองค์กรกำกับดูแลพื้นที่ ของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หมวดเรื่องการพัฒนาพื้นที่ หมวดเรื่องการกำกับดูแล และหมวดบทลงโทษ

ในหมวดทั่วไป ระบุถึง วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และนโยบายของภาครัฐที่ต้องมี การส่งเสริมเพื่อนำไปสู่การดึ งดูดนักลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายพื้นที่ระเบียบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตศก.พิเศษภาคตะวันออก ทำหน้าที่ประสานงาน การขับเคลื่อนโครงการ การดึงดูดนักลงทุน และการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และแต่งตั้งให้มีเลขาธิการสำนักงานเลขาธิการ เพื่อดำเนินการ โดยการพัฒนาพื้นที่จะมี การกำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ดิน

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีสิทธิ ประโยชน์ต่างๆ 4-5 ด้าน คือ 1.สิทธิการถือกรรมสิทธิที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างด้าว อาทิ ให้สามารถเช่าที่ดินได้เป็นเวลา 50 ปี และสามารถต่ออายุได้อีกครั้ง  49 ปี 2.สิทธิประโยชน์ ในการอำนวยความสะดวกให้ สามารถนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ ครอบคลุมตั้งแต่ช่างฝีมือ ผู้บริหารจากต่างประเทศ รวมถึงครอบครัวเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเข้ามาทำกิจการในประเทศไทย 3.ลดหย่อนภาษี อากร 4.สิทธิประโยชน์ด้านธุรกรรมทางการเงิน อาทิ การถือครองเงินตราต่างประเทศโดยไม่จำเป็นต้องขายออกการได้รับการบริการจากสถาบันการเงินต่างประเทศที่จะมาตั้งให้บริการในพื้นที่ เป็นต้น

รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิช โดยรวมศูนย์การให้บริการด้านต่างๆ ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการที่ต้องใช้เวลามาก โดยหน่วยงานดังกล่าวจะสามารถอนุมัติเองได้โดยเลขาธิการของสำนักงานดังกล่าวใน 6กฎหมายหลักได้ อาทิ กฎหมายขุดดิน ถมดิน กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายสาธารณะสุข รวมถึงการจดทะเบียนพาณิชย์ได้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆได้ดีขึ้น ทั้งยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเขตเศรษฐกิจฯดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการกระจายความเจริญลงท้องถิ่น ทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ ยกระดับฟื้นฟูให้ดีขึ้น เป็นต้น ทั้งยังมีบทลงโทษกรณีเมื่อลงทุนแล้วไม่ดำเนินการตามที่กำหนดไว้สามารถให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ เป็นต้น

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ เชื่อว่าเป็นร่างกฎหมายที่สำคัญเป็นการวางรากฐานทางด้านกฎหมายให้กับแนวคิดระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จากช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาตลอด กฎหมายฉบับนี้จะมารองรับและทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเดินไปข้างหน้า ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล และได้รับการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการยกระดับการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนจำนวน 1.55 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีนี้ในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนของอุตสาหกรรม การลงทุนด้านท่องเที่ยว และสุขภาพ เป็นต้น”