แรงกดดันธปท.-กนง.“งัดนโยบายการเงิน”ดูแลเศรษฐกิจ

21 ก.พ. 2567 | 08:18 น.

แรงกดดันธปท.-กนง.“งัดนโยบายการเงิน”ดูแลเศรษฐกิจ : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,968

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,968 ระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

*** ไปเริ่มกันที่เรื่องซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย นั่นคือ “ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ” ต้องบอกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ยังคงอยู่ในภาวะ “น่ากังวล” แม้จะผ่านพ้น “ช่วงท้องช้าง” หลังเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว

 

แต่ ณ ปัจจุบัน “เศรษฐกิจไทย” ยังไม่พื้นตัวได้ตามเป้าหมาย สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมไปถึงปัจจัยภายนอกประเทศที่ยากต่อการควบคุม มิหนำซ้ำ “กระสุน” จากมาตรการรัฐที่ออกมาหลายชุดก่อนหน้านี้ได้หมดลงแล้ว หันไปหันมาจึงเหลือทางเลือกเดียวในช่วงนี้ นั่นคือ การผลักดันนโยบายด้านการเงิน ผ่านกลไกของ “ดอกเบี้ยนโยบาย”

*** ล่าสุดในการแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ส่งสัญญาณชัดเจนชัดเจนเป็นครั้งแรกถึงการดำเนินนโยบายทางการเงิน ว่า ในระยะถัดไป สศช.มองว่า “มาตรการทางการเงิน” จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าให้ได้ เพื่อช่วยลดภาระของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของผู้ประกอบการ SME  สภาพัฒน์มองผลกระทบจากส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ยังคงห่างกันมาก จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มครัวเรือน และ เอสเอ็มอี มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ หากไม่เร่งทำให้ช่องว่างนี้แคบลง ดังนั้น จึงต้องหาทางออกมาตรการมาดูแลทั้งสองกลุ่มนี้โดยด่วน

*** สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.7 โตต่อเนื่องจาก ไตรมาส  3/66 ขยายตัวร้อยละ  1.5 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากเดิมสภาพัฒน์คาดการณ์จีดีพีในปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 2.5

ขณะที่การส่งออกเริ่มขยายตัวร้อยละ 3.4 นับว่าเติบโตในรอบ 5 ไตรมาส โดยกระทรวงการคลังเผยตัวเลขจีดีพีปี 2566 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8  คาดการณ์จีดีพีปี 2567 เติบโตร้อยละ 2.8  ส่วน กนง.คาดการณ์จีดีพีปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.5-3.0 

สภาพัฒน์ยังคาดการณ์เศรษกิจในปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.2-3.2 หรือขยายตัวเฉลี่ย 2.7% อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.9-1.9  โดยยังไม่นำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เข้ามาคำนวณ เพราะนโยบายยังต้องหารืออีกหลายฝ่าย คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 3.5

การท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 35 ล้านคน มีการใช้จ่ายในประเทศ 1.22 ล้านล้านบาท มีการใช้จ่าย 35,0000 บาทต่อคนต่อทริป นับเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ รัฐบาลต้องดูแลความปลอดภัยในการท่องเที่ยวในประเทศ การยกเว้นวีซ่าระยะยาวให้กับต่างชาติ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีกำลังซื้อสูง เพื่อเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ   

สภาพัฒน์ ยังแนะนำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พิจารณาอัตรา “ดอกเบี้ย” ครั้งต่อไปอย่างจริงจัง หากลดดอกเบี้ยครั้งต่อไป จะช่วยดูแลให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน  รวมทั้งควรลดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝาก และ เงินกู้ เพื่อดูแลภาระเอสเอ็มอีและรายย่อย

ปัจจุบันธนาคารมีส่วนต่างประมาณร้อยละ 5 เพื่อให้กลุ่มเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่องเพิ่ม รวมทั้งภาคครัวเรือน ที่รายย่อยต้องจ่ายเงินงวดผ่อนบ้าน นับว่าสำคัญมาก และเอสเอ็มอีและรายย่อยนำบัตรเครดิตมารูดใช้เป็นทุนประกอบอาชีพอย่างมาก หากรายใดมีปัญหาค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน ต้องดึงลูกหนี้มาเจรจาหนี้ ไม่ให้กระทบต่อหนี้ NPL จึงอยากให้ ธปท. ทบทวนเกณฑ์ชำระหนี้ขั้นต่ำร้อยละ 5 ซึ่งได้ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือน โดยทำอย่างจริงจังเห็นผลชัดเจนมากขึ้น เพราะตอนนี้มาตรการของรัฐทุกอย่างหมดลงแล้ว จึงต้องใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม  

                          แรงกดดันธปท.-กนง.“งัดนโยบายการเงิน”ดูแลเศรษฐกิจ

*** ฮอตเหมือนกัน สำหรับ “หุ้นไอพีโอ” ของ บริษัท เพเนเล่ส์มาติก โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PANEL ที่เปิดจำหน่ายจำนวน 50 ล้านหุ้น ราคาไอพีโอที่ 3.68 บาท สามารถระดมทุนได้ 184 ล้าน เอกจักร บัวหภักดี ตัวแทน บจก.หลักทรัพย์ โกลเบล็ก บอกว่า หุ้น PANEL ขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว ได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยต่างๆ ซึ่งเห็นถึงความเชื่อมั่นใน PANEL ที่มีจุดแข็งเป็นผู้นำด้านห้องผ่าตัดอัตโนมัติ ผนังบานเลื่อนห้องประชุมและระบบทางเข้า-ออกอัจฉริยะ ที่มีมาร์จิ้นสูง อีกทั้งมีศักยภาพและโอกาสเติบโตอย่างโดดเด่น และเป็นบริษัทเพียงหนึ่งเดียว ที่นำเข้าแบรนด์จากประเทศสเปน ภายใต้แบรนด์ MANUSA มายาวนานกว่า 24 ปี

ขณะที่ ปิยะภา จงเสถียร ก.ก.ผจก. บริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงิน ชี้ว่า ธุรกิจ PANEL จะเติบโตสูงไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลและการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub คาดว่าเตรียมเข้าเทรดใน MAI 22 ก.พ.นี้  

*** ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจ (KUBCD) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำระดับสูงด้านธุรกิจที่ยั่งยืน KU Change-Agent Readiness Executive Program KU CARE Class ONE รุ่นที่ 2 เรียนทุกวันศุกร์ ตั้งแต่ 26 เม.ย. ถึง 9 ส.ค. 2567 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น สนใจเข้าร่วมการอบรมติดต่อสอบถามรายละเอียด โทร. 025612775

*** ปิดท้าย... งานใหญ่ ใหญ่ยิ่ง ของ “ฐานเศรษฐกิจ” เตรียมจัดฉลองวันเกิดในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 วันศุกร์ที่ 23 ก.พ. 2567 นี้ ที่ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กทม.

โดย บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด สื่อในเครือเนชั่นกรุ๊ป จะจัดงาน 2 เวทีเสวนาใหญ่ “Thailand New ERA” และ “The ICONIC Road to successor” เริ่มงานตั้งแต่เวลา 14.00 – 17.00 น. เปิดให้แขกผู้มีเกียรติ ร่วมแสดงความยินดีที่ด้านหน้างาน 

ถัดไปเป็นการเปิดเวที THE ICONIC : ROAD TO SUCCESSOR พบกับผู้บริหารรุ่นใหม่กับเส้นทางความสำเร็จ ทั้ง จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก. บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, พชร อารยะการกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บลูบิค กรุ๊ป, นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. มาสเตอร์ สไตล์ และ ดร.จักรพล จันทวิมล Marketing Director บมจ. ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ 

จากนั้น เป็นงาน  EXCLUSIVE DINNER TALK ที่มี Special Keynote ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “THAILAND NEW ERA ก้าวใหม่ประเทศไทย” โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ที่จะมานำเสนอยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศไทย

ต่อด้วย Session : THAILAND NEW ERA  กับ 2 องค์ปาฐก คือ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ วิทัย รัตนากร ผอ.ธนาคารออมสิน ...ผู้สนใจเข้าร่วมงาน Dinner talk ติดต่อสอบถาม ที่คุณยุพาภรณ์ กุลวาทะศิลป์วงศ์ โทร. 084-639-1122 และ คุณจิรกาญจน์ เดชสวัสดิรัตน์ โทร. 064-146-4249 “ฐานเศรษฐกิจ” จัดงานใหญ่สุดพิเศษแบบนี้ ห้ามพลาดเด็ดขาด!!!

                        แรงกดดันธปท.-กนง.“งัดนโยบายการเงิน”ดูแลเศรษฐกิจ