ในอดีตการพิจารณาการควบรวมธุรกิจ จะเน้นการวิเคราะห์ว่าจะส่งผลต่อราคาสินค้า และส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและ/หรือสังคมโดยรวมอย่างไร โดยเน้นไปที่การควบรวมแนวนอน (Horizontal Merger) ซึ่งหมายถึงการควบรวมระหว่างบริษัท ที่มีสินค้าอยู่ในตลาดเดียวกัน เช่น การพยายามซื้อ T-Mobile USA ของบริษัท AT&T เมื่อปี 2011 ซึ่งทั้งคู่มีการให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ไร้สาย
การพยายามควบรวมดังกล่าวถูกบล็อคโดย Antitrust Division ของกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ ทำให้ AT&T ยกเลิกความพยายามดังกล่าวไปในที่สุด
การห้ามไม่ให้ควบรวมดังกล่าวมาจากหลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ที่แสดงให้เห็นว่า การมีจำนวนบริษัทน้อยไป หรือมีบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงไปจะส่งผลให้ราคาสูงขึ้น และปริมาณการผลิตหรือบริการที่ลดลง ทำให้ผู้บริโภครวมถึงสังคมโดยรวมเสียประโยชน์
การใช้หลักการดังกล่าวมีมานานแล้ว โดยในปี 1904 US Supreme Court สั่งให้บริษัท Northern Securities ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัททางรถไฟคู่แข่ง 2 บริษัทยกเลิกกิจการไป หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ก็มีกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างชัดเจนในการพิจารณาการควบรวมแนวนอน สำหรับไทย หากบริษัทมีขนาดใหญ่และการควบรวม จะก่อให้เกิดการผูกขาด หรือ มีอำนาจเหนือตลาด* จะต้องขออนุญาตก่อน
สำหรับการควบรวมแนวตั้ง (Vertical Merger) ซึ่งเป็นการควบรวมระหว่างบริษัทที่อยู่คนละระดับของห่วงโซ่อุปทานนั้น โดยหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ จะไม่ได้ส่งผลเสียโดยตรงต่อราคาสินค้า ในทางตรงกันข้ามกลับจะมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาลดลงอีกด้วย** ทำให้ในอดีตการควบรวมแนวนอนจะไม่ถูกเพ่งเล็งมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีบริษัทมีอำนาจตลาดสูงในระดับใดระดับหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการกีดกันบริษัทอื่นๆ ในการเข้าถึงลูกค้า หรือ การเข้าถึงวัตถุดิบหรือปัจจัยอื่นๆ ในการผลิต (Foreclosure) ความกังวลนี้เริ่มถูกใช้มากขึ้นในการห้าม หรือ จำกัดการควบรวมกันในแนวตั้ง ซึ่งนับว่าเป็นพัฒนาการที่ค่อนข้างใหม่ของการพิจารณาการควบรวมธุรกิจ
นอกจากนั้น ในกรณีที่อุตสาหกรรมมีระดับเทคโนโลยีสูง ยังมีการใช้เหตุผลที่ว่าการควบรวมในแนวตั้ง จะไปบั่นทอนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ของบริษัทปลายน้ำอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกควบรวม แม้ว่าความกังวลดังกล่าวจะมีเหตุผล แต่อาจมีข้อถกเถียงที่ว่า ผู้กำกับดูแลสามารถตั้งข้อแม้ให้มีการขายสินค้าและบริการให้กับบริษัทอื่นๆ ได้
นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันที่ห้ามการกระทำดังกล่าว หากทำให้เกิดผลเสียอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้ว
กรณีหนึ่งที่เป็นตัวอย่างข้างต้นคือ การคัดค้านไม่ให้ Illumina ควบรวม Grail ของทั้งทางฝั่งยุโรปและสหรัฐ Illumina นั้นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการหาลำดับพันธุกรรมรุ่นใหม่ และ Grail เป็นผู้พัฒนาการทดสอบมะเร็งระยะแรก ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงเทคโนโลยีของบริษัทอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาการทดสอบมะเร็งระยะแรกในอนาคต ทั้งนี้ Illumina ได้ขาย Grail ออกไปในที่สุด หลังจากที่ได้ควบรวมกันไปก่อนหน้านี้
นอกจากนั้น การควบรวมกิจการแบบกลุ่มธุรกิจต่างประเภท ซึ่งคือ การควบรวมระหว่างบริษัทที่ไม่ได้มีสินค้า หรือ บริการ ในตลาดเดียวกัน (Conglomerate Merger) ก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น
แม้ว่าในเชิงทฤษฎีจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียของการควบรวมรูปแบบดังกล่าว จนนำไปสู่คำกล่าวที่ว่า “Big is Bad” เพราะหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลการควบรวมโดยเฉพาะ European Commission (EC) และ FTC และ DOJ ของสหรัฐ ดูเหมือนจะมีความเห็นว่า การควบรวมระหว่างบริษัทขนาดใหญ่มักจะส่งผลไม่ดีในด้านใดด้านหนึ่ง
ทั้งนี้ การให้บริการแบบแพลตฟอร์ม หรือ ดิจิตัลดูจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ตัวอย่างหนึ่งคือ การที่ EC ห้ามไม่ให้ Booking.com ซึ่งให้บริการจองที่พักออนไลน์ควบรวมกับ Etraveli ซึ่งให้บริการจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจตลาดของบริษัท ที่ควบรวมในระบบนิเวศของบริการ (Service Ecosystem)
อีกตัวอย่างคือกรณีที่ FTC ได้คัดค้านการเข้าซื้อกิจการ Activision Blizzard ของบริษัท Microsoft โดยเชื่อว่า Microsoft จะมีอำนาจ และแรงจูงใจที่จะกีดกันการเข้าถึงเกมยอดนิยมของ Activision Blizzard จากคู่แข่งอย่าง Sony, Nvidia หรือผู้ให้บริการเกมบนคลาวด์ และเกรงว่าตลาดเกมบนคลาวด์ซึ่งเป็นตลาดใหม่จะถูกควบคุมโดย Microsoft อย่างไรก็ตาม FTC ได้ถอนฟ้องไป และเกิดการควบรวมดังกล่าวในปี 2023
ทฤษฎีซึ่งมิใช่ทฤษฎีดั้งเดิมของการห้ามการควบรวมธุรกิจเหล่านี้ ถูกเรียกรวมๆ ว่า เป็นทฤษฎีใหม่ของความเสียหายต่อการแข่งขัน (Novel Theories of Harm) โดยอาจรวมหลักการและเหตุผลหลายรูปแบบ เช่น การกีดกันผ่านระบบนิเวศ การซื้อกิจการเพื่อฆ่าคู่แข่งในอนาคต การลดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรม การใช้ข้อมูลเพื่อผูกขาด การเสนอขายบริการแบบแพ็ค (bundle) การใช้ความแข็งแกร่งในตลาดหนึ่งเพื่อครองตลาดอื่น และผลกระทบเชิงลบต่อแรงงาน เป็นต้น
*(1) ผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปหรือ
(2) ผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันตั้งแต่ 75% ขึ้นไป และมียอดขายแต่ละรายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ยกเว้นผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 10%
**เนื่องจาก Elimination of Double Marginalization ซึ่งหมายถึงการที่เมื่อสองบริษัทควบรวมกัน จะช่วยลดการบวกกำไรซ้ำซ้อนในแต่ละขั้น (เนื่องจากการกำจัด Vertical Externality) ส่งผลให้ราคาสินค้าโดยรวมลดลง