Bio-Credit : จากแนวคิดทางทฤษฎีสู่ความสำเร็จในทางปฏิบัติ

16 เม.ย. 2568 | 05:24 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2568 | 05:34 น.

Bio-Credit : จากแนวคิดทางทฤษฎีสู่ความสำเร็จในทางปฏิบัติ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... รศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์หน้า 6 ฉบับ 4088

เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity credits หรือ bio-credits) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่นำกลไกตลาดมาใช้ในการระดมเงินทุนเพื่อดูแลธรรมชาติ และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย 

ทั้งนี้ไบโอเครดิตได้รับความสนใจทั้งในระดับโลก ในเวทีในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Conference of the Parties (COP) ภายใต้ Convention for Biological Diversity (CBD)) และเป็นที่สนใจของประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ดังเช่น ประเทศในแถบละตินอเมริกา และ ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศไทยด้วย 

ผู้เขียนเคยได้เล่าถึงแนวคิดของไบโอเครดิตไปในคอลัมน์นี้มาก่อนแล้ว ซึ่งหากกล่าวโดยย่อ ไบโอเครดิต มีลักษณะคล้ายคาร์บอนเครดิต (carbon credit) คือ เป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ โดยไบโอเครดิตหนึ่งหน่วย เกิดจากการดำเนินกิจกรรมที่สามารถปกป้อง/ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

เมื่อผู้ลงทุนดำเนินโครงการจนได้รับไบโอเครดิตแล้ว ผู้ลงทุนสามารถนำไบโอเครดิตที่มีการรับรองแล้วไปขายต่อให้แก่ผู้อื่นได้ โดยอาจดำเนินการผ่านตลาดไบโอเครดิต หรือขายโดยตรงให้แก่ผู้อื่นก็ได้ เช่นเดียวกับ คาร์บอนเครดิต ที่ผู้ลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะสามารถนำคาร์บอนที่ลดลงไปขอใบรับรองเพื่อ ออกเป็นคาร์บอนเครดิตซึ่งนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนได้ 

ในทางทฤษฎี ทั้ง ไบโอเครดิต และ คาร์บอนเครดิต นับเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่อิงกับตลาด (market-based instruments) ที่เหมาะกับการนำไปใช้แก้ปัญหาการขาดแรงจูงใจในการมีพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านั้นไม่มีราคาตลาด ทั้ง ๆ ที่เป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อสังคม 

การสร้างตลาดเพื่อซื้อขายเครดิตเหล่านี้ จึงทำหน้าที่ช่วยกำหนดราคาตลาดที่แน่ชัด ทำให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสร้างรายได้ให้แก่ผู้ลงทุนอย่างชัดเจน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้นอกจากจะจูงใจให้เกิดการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยระดมเงินทุนเพื่อการดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้อีกด้วย

ดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือที่ได้รับความสนใจจากผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในการนำไปใช้จริงอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงอยู่หลายประการ ตั้งแต่การวัดผลลัพธ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อออกใบรับรองไบโอเครดิต และการดำเนินการเพื่อป้องกันการใช้ไบโอเครดิต เป็นเครื่องมือที่องค์กรใช้ในการฟอกเขียว (greenwashing) เป็นต้น 

ด้วยเหตุนี้ ในการประชุม COP ครั้งที่ 15 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในปี 2565 จึงมีการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อไบโอเครดิต (Biodiversity Credit Alliance: BCA) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาตลาดไบโอเครดิต ให้มีความน่าเชื่อถือ และสามารถใช้งานอย่างแพร่หลาย 

ในปัจจุบัน BCA มีบทบาทสำคัญในการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจากภาครัฐ เอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร องค์กรระหว่างประเทศ และภาคส่วนอื่น ๆ ในการกำหนดหลักการระดับสูง (high-level principles) ในด้านความเท่าเทียมกัน (equity) ความน่าเชื่อถือ (integrity) และ คุณภาพ (quality) ของตลาดไบโอเครดิต 

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการดำเนินงานด้านการจัดทำตัวชี้วัดและการวัดเครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ การศึกษาการนำเทคโนโลยีการประมวลผล และจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger technology) ไปใช้ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของตลาดไบโอเครดิต อีกทั้งยังมีการดำเนินการศึกษาแนวทางการป้องกันการนำไบโอเครดิต ไปใช้ในการฟอกเขียวอีกด้วย 

ในภาวะปัจจุบันซึ่งไบโอเครดิตได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีมาตรฐานและวิธีการกำหนดไบโอเครดิตมากกว่า 53 แบบทั่วโลก การกำหนดหลักการระดับสูง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทาง และแนวทางในการพัฒนาตลาดไบโอเครดิตต่อไปในอนาคต 

และสำหรับประเทศไทยซึ่งมีทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอยู่มาก การดำเนินงานด้านไบโอเครดิตในระดับโลก จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า หากมีการนำหลักการต่าง ๆ มาใช้กับประเทศไทย ควรมีการเตรียมความพร้อมอย่างไร ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพให้อยู่คู่ประเทศไทยต่อไปอย่างยั่งยืน