รถไฟจีน-ลาวเชื่อมไทย โอกาสบนความเสี่ยง

31 มี.ค. 2566 | 01:36 น.

รถไฟลาว-จีน เปิดให้บริการระยะแรกเส้นทางเวียงจันทน์- บ่อเต็น เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2564 เป็นต้นมา โดยเป็นการเชื่อมต่อจากทางรถไฟสายคุนหมิง-บ่อหาน (โมฮั่น) เมื่อรวมระยะทางจากคุนหมิงถึงบ่อเต็นประมาณ 1,000 กิโลเมตร

รถไฟจีน-ลาวเชื่อมไทย โอกาสบนความเสี่ยง

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท อีบีซีไอ จำกัด บริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำ ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลต่อเนื่องจากทางรถไฟสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น หรือทางรถไฟลาว-จีน ว่า นอกจากจะสร้างความคึกคักด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และอื่น ๆ ระหว่างจีนกับ สปป.ลาวแล้ว โอกาสที่จะเชื่อมต่อมาถึงไทยก็อยู่แค่เอื้อม แต่การขับเคลื่อนในครั้งนี้ไทยและลาวต้องแลกอะไรกับจีนบ้าง และระยะยาวจะเกิดประโยชน์ต่อไทยด้านใดบ้าง ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

ทั้งนี้รถไฟสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่เป็นรถไฟที่แล่นเร็วมากกว่าปกติ คือด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง จอด 6 สถานีได้แก่ เวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง เมืองไซ นาเตย และบ่อเต็น รถไฟสายนี้ใช้ขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า ระยะทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น 414 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ถ้าเป็นรถยนต์จะเป็นระยะทาง 600 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 13 ชั่วโมง เท่ากับย่นระยะทางเกือบ 200 กม. และย่นระยะเวลา 9 ชั่วโมง

 นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท อีบีซีไอ จำกัด

  • ปริมาณขนส่งสินค้าพุ่ง

ที่น่าจับตานับแต่การเริ่มต้นเปิดใช้ทางรถไฟสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น พบว่าปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นทุกเดือน ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 สินค้าที่ขนส่งโดย China-Lao Railway Kunming Bureau Group มีมากกว่า 10 ล้านตัน โดยปริมาณดังกล่าวเป็นเพียงปริมาณเริ่มต้นเท่านั้น จากที่เวลานี้ปริมาณขนส่งสินค้ามีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

ขณะที่ตามนโยบายขยายการค้า การลงทุน และระบบโลจิสติกส์ของจีนและลาว ทั้งสองประเทศได้กำหนดพื้นที่บางส่วนของบ่อเต็นและบ่อหานเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม ซึ่งสินค้าที่ซื้อขายกันในเขตดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีอากร และหากปริมาณการนำเข้า-ออก ของมูลค่าสินค้าที่ผ่านแดนของสองประเทศ (นำสินค้าออกนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ) มีมูลค่าไม่มากไม่ต้องเสียอากรนำเข้าส่วนบ่อหานเป็นเมืองที่จีนให้การส่งเสริมทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เฉพาะที่ทำการศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมือง สร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่ ทันสมัย มีลานพักรถคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่

รถไฟจีน-ลาวเชื่อมไทย โอกาสบนความเสี่ยง

  • จากบ่อเต็นเชื่อมถึงไทย

สำหรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับไทยในระยะยาว นอกจากที่บ่อเต็นเป็นเมืองที่เชื่อมต่อกับบ่อหานทั้งทางรถยนต์และรถไฟแล้ว ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ บ่อเต็นเป็นเมืองที่น่าอยู่ในลาว มีเขตพื้นที่ชายแดนติดกับจีน และใกล้ไทย-เมียนมา อีกทั้งเป็นเมืองที่อยู่ในยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของจีนที่จะเชื่อมต่อจากจีนไปลาว เข้าไทย

นอกจากนี้บ่อเต็นเป็นจุดเชื่อมที่อยู่กึ่งกลางระหว่างคุนหมิง-บ่อหาน-บ่อเต็น-เวียงจันทน์-หนองคาย จากหนองคายเชื่อมไปถึงขอนแก่น นครราชสีมา (ซึ่งมีทางรถไฟที่ไทยเตรียมสร้างไปเชื่อมกับขอนแก่น หนองคาย เพื่อรองรับรถไฟจีน-ลาวจากเวียงจันทน์ในอนาคต) ซึ่งจะช่วยยกระดับการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนของเมืองบ่อหาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ชาวคุนหมิงและเมืองใกล้เคียงในการได้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อการท่องเที่ยว ทำธุรกิจ ลงทุนในลาว โดยเส้นทางจากคุนหมิงมาลาวและไทยโดยทางรถไฟประมาณ 1,035 กิโลเมตร (ถึงหนองคาย) หากต่อมาถึงกรุงเทพฯประมาณ 1,620 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง

  • ค้าจีนมาอาเซียนโต

 “การสร้างทางรถไฟสายคุนหมิง-บ่อหาน-บ่อเต็น-เวียงจันทน์ มีเป้าหมายจะเชื่อมต่อถึงนครราชสีมา สระบุรี และแหลมฉบัง ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางการค้าและโลจิสติกส์ของจีน โดยคุนหมิงและเมืองใกล้เคียง เช่น ฉงชิ่ง เฉิงตู จะได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปลาว และไทยได้มากขึ้นในอนาคต ประชาชนในภาคใต้ของจีนจะมีเส้นทางการท่องเที่ยวมากขึ้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของคุนหมิงและเมืองใกล้เคียงจะเติบโตมากยิ่งขึ้น” 

 และผลจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 และการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้การค้าของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการนำเข้าของกลุ่มอาเซียน (รวมไทย)จากจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ในปี 2565 ไทยส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งไปจีน 169,267 ล้านบาท (+6%) ในจำนวนนี้เป็นทุเรียนสด 106,039 ล้านบาท (+7.8%) โดยส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางรถบรรทุก และส่วนหนึ่งผ่านรถไฟลาว-จีน

  • จับตาวาระซ่อนเร้นจีน

 นายสายัณห์ กล่าวตอนท้ายว่า อนาคตของระบบโลจิสติกส์ ทางรางของไทย ลาว และจีน จะเป็นเช่นใดนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของทั้งสามประเทศเป็นส่วนสำคัญ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจีนคิดโครงการเพื่อช่วยเหลือลาว มักจะมีวัตถุประสงค์อื่นตามมา เช่น การทำคอนแทรคฟาร์มโดยให้เกษตรกรลาวเป็นลูกไร่ แล้วจีนรับซื้อผลผลิตทางเกษตรในราคาที่กำหนด หรือจีนอาจจะซื้อที่โดยให้คนลาวเป็นเจ้าของที่ดิน แต่คนจีนบริหารควบคุมสั่งการทุกอย่าง จะเหมือนกับการที่ล้งจีนซึ่งมีมากเกือบ 300-400 แห่งในภาคตะวันออกของไทย รับซื้อทุเรียนเละ ทุเรียนอ่อนส่งออกไปจีน ทำให้คุณภาพทุเรียนไทยในสายตาคนจีนไม่ดี ทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกตที่ต้องจับตาดูต่อไป

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3874 วันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2566