ความรู้เท่าทันก่อนการตัดสินใจใช้กัญชา

04 ธ.ค. 2566 | 23:00 น.

ความรู้เท่าทันก่อนการตัดสินใจใช้กัญชาเป็นเรื่องที่สำคัญ นักวิชาการ TDRI รวบรวมกลุ่มคำถามเบื้องต้นเพื่อใช้ในการประเมินว่า ผู้ที่เสพกัญชาหรือผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชามีความรู้ที่เพียงพอหรือไม่

การบริโภคอย่างชาญฉลาด ในแง่หนึ่งหมายถึง การมีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอในการเลือกบริโภคอย่างเหมาะสม ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองในการ "เลือก" บริโภคผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัยและสมประโยชน์เพื่อสุขภาพที่ดี (สสส.) การบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชาก็เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ผู้บริโภคควรที่จะต้องมีความเข้าใจที่เพียงพอ เพื่อที่จะรู้เท่าทันและตัดสินใจเลือกบริโภคโดยพิจารณาผลประโยชน์และความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบด้าน

ผู้เขียนได้รวบรวมกลุ่มคำถามเบื้องต้นเพื่อใช้ในการประเมินว่า ผู้ที่เสพกัญชาหรือผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชามีความรู้ที่เพียงพอหรือไม่?

ซึ่งผู้เขียนคิดว่าจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก หากผู้ที่กำลังเสพกัญชาหรือกำลังบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชาอยู่ หรือ ผู้ที่กำลังคิดว่าจะทดลองใช้ ได้ทำแบบทดสอบนี้ดูเพื่อประเมินตัวเองว่ามีความรู้เพียงพอที่จะบริโภคอย่างชาญฉลาดหรือไม่? ดังนี้

  1. อาการแพ้กัญชาเป็นอย่างไร?
  2. อาการเสพกัญชาเกินขนาด เป็นอย่างไร?
  3. ผู้ที่ทดลองเสพกัญชา 100 คนจะมีโอกาสที่จะเสพติดกัญชากี่คน?
  4. ผู้ที่เสพกัญชาเป็นประจำเป็นเวลานาน จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร?
  5.  กัญชาสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคอะไรได้บ้าง?
  6. ใครบ้างที่ไม่ควรใช้กัญชาเพราะมีผลเสียต่อสุขภาพสูง?
  7. ผู้ที่กำลังเสพกัญชาไม่ควรทำกิจกรรมใดบ้าง?
  8. การบริโภคอาหารที่ผสมกัญชา จะรู้สึกถึงฤทธิ์ของกัญชาเมื่อใด?
  9. การเสพกัญชา จะรู้สึกถึงฤทธิ์ของกัญชาเมื่อใด?
  10. ปริมาณการบริโภคสาร THC ในกัญชาที่เหมาะสม ไม่ควรเกินกี่มิลลิกรัมต่อวัน?
  11. ผู้ที่ใช้กัญชาเป็นเวลานานมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอะไรบ้างที่สูงมากกว่าผู้ที่ไม่ใช้?
  12. การปฐมพยาบาลผู้ที่แพ้ หรือ เสพกัญชาเกินขนาดต้องทำอย่างไรบ้าง?
  13. หากพบผู้ที่มีอาการติดกัญชา ต้องติดต่อหน่วยงานไหน?
  14. หากพบผู้ป่วยจิตเวชที่ติดกัญชา ต้องติดต่อหน่วยงานไหน?
  15. ท่านทราบถึงแหล่งที่มาและคุณภาพของกัญชามากน้อยเพียงใด?

ท่านที่ได้ทำแบบสอบถามข้างต้นคงพอจะประเมินตนเองได้ในระดับหนึ่งว่าตนเองมีความรู้เพียงพอที่จะบริโภคกัญชาได้อย่างชาญฉลาดมากน้อยเพียงใด?

แนวคำตอบเบื้องต้น

1.เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจไม่ออก เหงื่อแตก ผื่นขึ้น หมดสติ 

2.ปากแห้ง เมา วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ขยับตัวไม่ได้ 

3.9 คน 

4.อารมณ์แปรปรวน เกียจคร้าน 

5.โรคปลอกเส้นประสาทแข็ง โรคลมชักที่ดื้อต่อยาแผนปัจจุบัน โรคที่มีอาการปวดตามเส้นประสาท อาการคลื่นไส้ อาเจียน ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง และมีอีก 5 โรคที่เป็นการรักษาทางเลือก ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลทั่วไป โรคปลอกปลายประสาทอักเสบ โรคมะเร็งระยะสุดท้าย 

6.เด็กและเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่รับประทานยาที่การใช้กัญชาส่งผลต่อการรักษา เช่น ผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วยที่มีอาการการทำงานของตับบกพร่อง ผุ้ป่วยที่กินยาวาร์ฟาริน เป็นต้น 

7.ขับรถ ใช้งานเครื่องจักร 

8.30 นาที- 1.5 ชั่วโมง (แล้วแต่คน) 

9.ทันที

10.5 มิลลิกรัม 

11.โรคทางจิตเวช โรคทางปอด โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคทางช่องปาก 

12.ดื่มน้ำ ทานมะนาวผสมเกลือ เคี้ยวพริกไทย ดื่มน้ำขิง อาบน้ำ ทานของหวาน ให้นอนในที่อากาศถ่ายเท (แล้วแต่อาการ) 

13.สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด หรือ สายด่วน 1165 

14. สถานบำบัดผู้ป่วยทางจิต หรือ สายด่วน 1669 

15.กัญชามีการแบ่งเกรดตามคุณภาพ แต่ความน่ากังวลใจ คือ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพจะสูงมากทำให้กัญชาอาจจะมีคุณภาพต่ำหรือมีสารปนเปื้อนได้ หากไม่ได้ซื้อจากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ