กำลังรบทางไซเบอร์

05 มี.ค. 2565 | 06:38 น.

คอลัมน์ THE HACKER โดย : AFON CYBER

“สงครามโลกไซเบอร์ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับเอสโตเนีย เมื่อปี 2007
ตอนนี้กำลังเกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน”
อ้างอิง https://en.wikipedia.org/wiki/2007_cyberattacks_on_Estonia

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าในโลกยุคปัจจุบัน ทางการทหารได้มีการแบ่งพื้นที่รบหรือ war domain ออกเป็น 5 พื้นที่แล้วคือ บก น้ำ ฟ้า อวกาศ และไซเบอร์ โดยในแต่ละพื้นที่ก็จะมีการจัดตั้งกองบัญชาการรบและสร้างกำลังรบสำหรับพื้นที่รบแต่ละพื้นที่ เช่น กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ 


และในปัจจุบัน หลายประเทศได้มีการจัดตั้งกองทัพไซเบอร์ขึ้นมาแล้ว เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยทางไซเบอร์และเสริมกำลังรบในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจาก ไซเบอร์ ถูกใช้ในทุกพื้นที่รบ
 

เมื่อปี 2007 มีกรณีพิพาทกันระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศเอสโตเนีย ซึ่งอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ข้อพิพาทเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลประเทศเอสโตเนียตัดสินใจที่จะเคลื่อนย้ายอนุสรณ์สถานวีรชนในเมืองทัลลิน เมืองหลวงของเอสโตเนีย 


นำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนส่วนหนึ่งในรัสเซีย จนเกิดการต่อต้านเดินขบวน และมีการเคลื่อนไหวทางไซเบอร์ ซึ่งเหตุการณ์บานปลายจนทำให้ระบบอินเตอร์เน็ทของเอสโตเนียมีปัญหา ใช้การไม่ได้ร่วม 3 สัปดาห์ 


เว็บไซต์ของภาครัฐและสื่อสารมวลชนใช้การไม่ได้ ระบบอีเมล์ของภาครัฐใช้การไม่ได้ ATM ใช้ไม่ได้ เว็บไซต์ด้านการเงินการธนาคารล่ม ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขเรียบร้อยและการใช้ชีวิตของพลเมืองอย่างยิ่งยวด


ในปี 2022 นี้รัสเซียมีปัญหากับประเทศยูเครนและตัดสินใจดำเนินการรบบุกเข้าประเทศยูเครน ในขณะเดียวกันในทางไซเบอร์ก็มีการเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การโจมตีเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ การโจมตีด้วยมัลแวร์และ ransomware ต่างๆ มีการโจมตีด้วยเทคนิค DDOS หรือ Distributed Denial of Services (การโจมตีเพื่อให้เว็บไซต์หรือเครือข่ายล่มใช้งานไม่ได้) ไปยังเว็บไซต์ของรัฐบาล ภาคธุรกิจและธนาคารของประเทศยูเครน 


ตลอดจนการยิง SMS เพื่อสร้าง propaganda หรือชี้นำอันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจิตวิทยา (psyops) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (information operation) ทางรองประธานาธิบดีของยูเครนก็ได้จัดตั้ง IT-ARMY of Ukraine เพื่อหวังที่จะตอบโต้กลับทางรัสเซียบ้าง


จะเห็นได้ว่าการสงครามในยุคปัจจุบันและอนาคต จะไม่ได้มีเพียงแค่การใช้ขีปนาวุธ หรือกำลังรบแบบเดิมๆ ในการเข้าสัประยุทธ์กัน แต่จะมีกำลังรบทางไซเบอร์เป็นอีกหนึ่งแนวรบที่สำคัญ ที่จะสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายตรงข้ามและสร้างความได้เปรียบทางการรบได้ 


ดังนั้นกำลังรบทางไซเบอร์ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการปกป้องและรักษาอธิปไตยของประเทศที่ไม่สามารถจะละเลยได้ คำถามสำคัญสำหรับประเทศไทยคือ เรามีความพร้อมด้านนี้มากน้อยเพียงใด มีการจัดสรรงบประมาณในการสร้างและเตรียมพร้อมสำหรับกำลังรบทางไซเบอร์เพียงใด 


คงยังเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้นำประเทศและกองทัพ ที่ต้องรีบพิจารณาครับ เพราะเมื่อเกิดสงคราม แล้วประเทศเราประกาศจุดยืนอย่างไรขึ้นมา จะเป็นการเรียกแขกฝ่ายตรงข้ามมาถล่มทางไซเบอร์ทันที และพวกเราทุกคนก็จะต้องเดือดร้อนและได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมด


ขอให้ทุกท่านอยู่รอดปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ครับ