ความท้าทายใหม่ จากปัญหาเงินเฟ้อโลกสูง

15 ธ.ค. 2564 | 04:52 น.

ความท้าทายใหม่ จากปัญหาเงินเฟ้อโลกสูง : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ... ดร.ทยา ดำรงฤทธิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,740 หน้า 5 วันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2564

เงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่าเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ชะลอตัวลงในปี 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2021 เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสร้างความวิตกกังวลให้หลายฝ่าย อีกทั้งมีความกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อนี้อาจจะยืดเยื้อไปหลายปี 

 

สาเหตุเงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้น

 

สาเหตุของภาวะเงินเฟ้อโลกสูงในช่วงปีนี้มาจาก 2 สาเหตุ คือ สาเหตุแรก เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์  (Demand-pull Inflation) เป็นลักษณะเงินเฟ้อที่เกิดจากการขยายตัวของอุปสงค์อย่างรวดเร็วจนเกินกว่าอุปทานจะสนองตอบได้ ซึ่งปัจจุบัน จากข้อมูลพบว่า ในช่วงล็อกดาวน์ ผู้บริโภคไม่สามารถใช้จ่ายได้ตามต้องการ

 

ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มทยอยฟื้นตัว ประกอบกับการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบผ่านมาตรการช่วยเหลือทางการคลังขนาดใหญ่ จึงส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากถูกอั้นไว้ในช่วงที่ถูกล็อกดาวน์  ในขณะที่ทางด้านอุปทานไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อการรองรับอุปสงค์ในตลาด จึงทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น

 

สาเหตุสอง คือ เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปทาน (Cost-push Inflation)  เป็นลักษณะของเงินเฟ้อที่เกิดจากทางด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานเกิดภาวะชะงักงัน (supply chain disruption) โดยเฉพาะการชะลอตัวของอุปทานแรงงาน (labor supply)

 

เห็นได้จากตัวเลขอัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (labor force participation rate) ที่ลดลง ทั้งนี้ เพราะแรงงานจำนวนหนึ่งที่ถูกปลดออกจากงาน ไม่มีแรงจูงใจที่จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากมีความพอใจต่อมาตรการของรัฐบาลในการแจกเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือบางส่วนมีความหวาดระแวงกับการต้องกลับไปทำงานที่ต้องพบปะผู้คนเยอะ จึงเลือกที่จะเป็นคนว่างงานต่อไป

 

นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (world commodity price) ที่สูงขึ้น อีกทั้งการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกนํ้ามันเจ้าใหญ่ OPEC รวมตัวกันลดกำลังการผลิตลง เพื่อให้ปริมาณนํ้ามันขาดตลาดในขณะที่กำลังซื้อนํ้ามันเริ่มค่อยๆ กลับมาเมื่อประเทศต่างๆ ทยอยเปิดเมือง ปัจจัยเหล่านี้จึงผลักดันให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

 

 

ความท้าทายใหม่ จากปัญหาเงินเฟ้อโลกสูง

 

 

ภาวะเงินเฟ้อปีนี้จึงเป็นเงินเฟ้อแบบผสมที่มีสาเหตุจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานพร้อมกัน โดยปัจจุบันมีความกังวลเพิ่มขึ้นในหลายประเทศว่าภาวะเงินเฟ้อนี้ที่เกิดจากความไม่สมดุลของอุปทานและอุปสงค์ (supply-demand imbalances) อาจจะไม่คลี่คลายในระยะสั้น นี้สร้างความท้าทาย ให้กับผู้วางนโยบายทางการเงิน เนื่อง จาก trade-off ที่เผชิญระหว่างการเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และการต่อสู้กับเงินเฟ้อ เพื่อที่จะช่วยบรรเทาปัญหา นี้ ตัวแปรสำคัญหนึ่งที่ควรต้องให้ความสนใจ คือ การคาดการณ์เงินเฟ้อ 

 

ทำไมการคาดการณ์เงินเฟ้อสำคัญ

 

การคาดการณ์ของครัวเรือน ธุรกิจ และนักลงทุน เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการในอนาคตสามารถมีผลกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริง กล่าวคือ ถ้าผู้คนเริ่มปรับการ คาดการณ์เงินเฟ้อว่าจะอยู่ในระดับสูงในปีหน้า ภาคธุรกิจจะต้องการที่จะปรับขึ้นราคาสินค้า แรงงานรวมถึงสหภาพแรงงานจะมีการเรียกร้องให้ มีการขึ้นค่าจ้างตามการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และผู้บริโภคเร่งการใช้จ่ายเพราะกลัวเงินเฟ้อที่สูงขึ้น พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจริงตามมา

 

ท่ามกลางภาวะที่อัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินแบบ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) นั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางที่มีความสามารถในการรักษาระดับเงินเฟ้อตามระดับเป้าหมายได้สมํ่าเสมอในอดีต จะมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการยึดเหนี่ยวของความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อ ในระยะเวลาปานกลาง (Inflation Anchoring) ได้ดี

 

และแม้ในสถานการณ์ที่มีภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น ก็อาจจะยังสามารถรักษาดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับตํ่าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศที่เงิน เฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมายเป็นเวลานาน

 

สิ่งที่ต้องกังวล คือ การคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งเร่งให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้วางนโยบายในหลายประเทศกำลังพิจารณาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่วางแผนไว้ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะมีผล กระทบทางลบต่อเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มจะฟื้นตัว

 

ความท้าทายใหม่ของไทย

 

สำหรับไทย ถึงแม้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางวางไว้ ทั้งนี้เพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบ อย่างมหาศาลต่อรายได้ และการจ้างงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

 

อย่างไรก็ตาม ผู้วางนโยบายก็ไม่ควรวางใจกับปัญหาเงินเฟ้อโลกสูงได้ ควรเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ที่เกิดจากการส่งผ่านของเงินเฟ้อโลกสูงมายังเงินเฟ้อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

 

ท้ายที่สุด ความไม่แน่นอนที่สูงมากในปัจจุบัน ทั้งจากการลดประสิทธิภาพของวัคซีนจากโควิดกลายพันธ์ โอไมครอน ที่อาจจะส่งผลยืดเยื้อต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและแรงงานที่ลดลง การวางข้อจำกัดของเดินทางระหว่างประเทศที่อาจจะเพิ่มขึ้นอีก ผู้วางนโยบายควรสามารถปรับตัวได้รวดเร็วต่อความไม่แน่นอน

 

อีกทั้งการสื่อสารนโยบายการเงินที่ชัดเจนที่จะกระทบการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง