กรมโรงงานฯติดจรวด 5 ภารกิจ งัดกฎหมายปราบ รง.เสี่ยง 10 เดือนปิดตัว 500 โรง

25 พ.ย. 2564 | 04:22 น.

กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่หลักในการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จากนี้และปี 2565 มีภารกิจเร่งด่วนอะไรบ้างนั้น นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานฯ ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"ดังรายละเอียด

 

กรมโรงงานฯติดจรวด 5 ภารกิจ งัดกฎหมายปราบ รง.เสี่ยง 10 เดือนปิดตัว 500 โรง

 

ต้องจับตาการทำงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภารกิจเร่งด่วน ทั้งการเข้มงวดบังคับใช้กฏหมายกับโรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง  การรับมือปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศรวมถึงสัญญาณเตือนการย้ายฐานการผลิตในบางอุตสาหกรรมที่เคลื่อนไหวโดยแจ้งเลิกประกอบกิจการ  และมาตรการการจัดการมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่น การขับเคลื่อนภารกิจสำคัญ ๆ เหล่านี้จะเป็นอย่างไรนั้น ฟังจากปาก นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างชัดเจน

 

วันชัย  พนมชัย

 

นายวันชัย กล่าวถึงภารกิจเร่งด่วนที่กรมโรงงานฯต้องเร่งรัดมีทั้งหมด 5 ภารกิจไล่ตั้งแต่ 1.เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงาน เน้นตรวจติดตามกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง 2.บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าระบบมากที่สุด เน้นการตรวจสอบผู้รับกำจัดกาก ที่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยเช่น รับกำจัดเกินกว่าขีดความสามารถที่ทำได้ หรือปริมาณที่รับกำจัดไม่สอดคล้องกับปริมาณที่กำจัดจริง เป็นต้น 3.อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับอนุญาตจากกรมโรงงานฯให้สะดวก และเร็วขึ้น

 

4.เน้นสร้างเครือข่ายประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบโรงงาน  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการให้โรงงานติด QR Code ที่หน้าโรงงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถรับทราบข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานและสามารถร้องเรียน หรือแจ้งกรมโรงงานฯ หากพบสิ่งผิดปกติ 5.เร่งรัดและประชาสัมพันธ์ให้มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการแปลงทรัพย์สินเป็นทุน ตั้งเป้าให้มีมูลค่าการจดจำนองไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านในปี 2565 เพื่อเป็นการช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ ให้มีการหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น

 

กรมโรงงานฯติดจรวด 5 ภารกิจ งัดกฎหมายปราบ รง.เสี่ยง 10 เดือนปิดตัว 500 โรง

 

นายวันชัยย้ำว่า กรมโรงงานฯจะให้น้ำหนักกับการเพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายกับโรงงาน โดยเน้นการตรวจติดตามกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง 12 ประเภท เช่น โรงงานสกัดน้ำมันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์ และโรงงานทำน้ำมันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์ให้บริสุทธิ์ (ประเภท 7(1)(4)), โรงงานทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งมิใช่ปุ๋ย และโรงงานเก็บรักษา ลำเลียง แยก คัดเลือก หรือแบ่งบรรจุ เฉพาะเคมีภัณฑ์อันตราย (ประเภท 42(1)(2), โรงงานทำปุ๋ย หรือสารป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์, โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก (ประเภท 44), โรงงานทำสีสำหรับใช้ทา พ่น หรือเคลือบ, โรงงานทำไม้ขีดไฟ วัตถุระเบิด หรือดอกไม้เพลิง (ประเภท 48(4), โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ประเภท 49) , โรงงานผสมผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมเข้าด้วยกัน หรือการผสมผลิตภัณฑ์จากปิโตร เลียมกับวัสดุอื่น แต่ไม่รวมถึงการผสมผลิตภัณฑ์จากก๊าซธรรมชาติกับวัสดุอื่น (ประเภท 50(4), โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

 

เข้มงวดกำจัดขยะติดเชื้อ

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่ประชาชนต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาใหญ่ที่ต้องเข้มงวดเรื่องการกำจัดขยะติดเชื้อ เช่น ขยะจากหน้ากากอนามัยที่ทิ้งจากบ้าน ขยะจากชุมชน ขยะจากโรงพยาบาล โดยจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในไทย ส่งผลให้ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จนเกินกำลังการกำจัดของเตาเผา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะติดเชื้อให้แล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้โดยด่วน เพื่อให้สามารถจัดหาแหล่งรับกำจัดขยะติดเชื้อได้มากขึ้น

 

รวมถึงนำขยะติดเชื้อที่ตกค้างไปเผาทำลายให้หมด ซึ่งต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียสในการเผา และมีมาตรการด้านสุขอนามัย ระบบบำบัดมลพิษอากาศที่เป็นไปตามมาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เปิดให้โรงงานลำดับที่ 88 (2) เฉพาะโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนหรือขยะอุตสาหกรรม หรือแบบผสมผสานทั้งแบบเผาตรงและใช้เชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) โรงงานลำดับที่ 101 เฉพาะโรงปูนซีเมนต์และโรงงานกำจัดของเสียเฉพาะที่กำจัดโดย กระบวนการเผา และโรงงานลำดับที่ 102 เฉพาะโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิต และหรือจำหน่ายไอน้ำ (Steam Generating) ที่ใช้เชื้อเพลิงขยะชุมชนหรือขยะอุตสาหกรรมหรือแบบผสมผสานทั้งแบบ เผาตรงและใช้เชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) ขอความเห็นชอบ เพื่อใช้ความสามารถของเตาเผาจากการประกอบกิจการโรงงาน มาช่วยกำจัดขยะติดเชื้อที่สะสมอยู่เป็นการชั่วคราว

 

ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เห็นชอบให้โรงงานจำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัททีพีไอ โพลีน เพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดสระบุรี บริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด จังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จังหวัดพิจิตร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอยี่ จำกัด (มหาชน) จังหวัดระยอง บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็ค ชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กรุงเทพฯ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช และบริษัท พีเจที เทคโนโลยี จำกัด จังหวัดภูเก็ต สามารถนำขยะติดเชื้อมาเผาได้แล้ว โดยโรงงานทั้ง 8 รายดังกล่าว มีความสามารถในการเผารวมกันได้ 800 ตันต่อวัน ซึ่งจะแก้ปัญหาขยะติดเชื้อล้นเมืองได้แบบไม่มีปัญหาอีกต่อไป

 

จัดการมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรม

ส่วนมาตรการการจัดการมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่นนั้นจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ มาตรการระยะสั้น ปี พ.ศ. 2564 - 2565 จะเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และลดผลกระทบ รวมถึงการเตรียมพร้อมในการจัดการภาวะฉุกเฉิน  ด้าน มาตรการทางกฎหมาย ต้องปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน เกณฑ์ แนวทางปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่และลักษณะชุมชนแวดล้อมโรงงาน เช่น กฎหมายมลพิษน้ำ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายน้ำทิ้งของโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือกลุ่มโรงงานประกอบกิจการฆ่าสัตว์เป็นต้น

 

ทั้งนี้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมลพิษดินและน้ำใต้ดินให้มีความทันสมัย และชัดเจนในทางปฏิบัติ รวมถึงสอดคล้องกับ พรบ. โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่องกำหนดมาตรฐานคุณภาพดิน เช่น เพิ่มพารามิเตอร์ Cu (ทองแดง)  รวมถึง เข้มงวดการประกอบกิจการโรงงานมิให้มีค่าเกินเกณฑ์หรือมาตรฐานการปลดปล่อยและระบาย มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และขยายผลแผนงานการปรับปรุงมลพิษฯและผลที่สัมฤทธิ์ได้ ต่อไปที่ supply chain ของแต่ละโรงงานหรือกลุ่มโรงงานหนาแน่น เป็นต้น

 

ส่วนมาตรการระยะยาว ระหว่างปี พ.ศ. 2565 - 2568   เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิดอย่างยั่งยืน เช่น  ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม เพื่อยกระดับการผลิตและการจัดการมลพิษ, ผลักดันเขตอุตสาหกรรมหนาแน่นต่างๆเหล่านั้นให้พัฒนาสู่การเป็น ECO Estate และพัฒนาสู่การเป็น อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป  เป็นต้น

 

สำหรับการประกอบกิจการโรงงาน อาจมีการเก็บและการใช้สารเคมีที่มีความเป็นอันตรายจำนวนมาก และมีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยสารเคมีที่ไม่เหมาะสม จึงจัดทำ ร่าง ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการเพื่อออกเป็นกฎหมาย คาดมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้

 

นอกจากนี้กรมโรงงานฯยังได้พัฒนา ระบบการรายงานข้อมูลสารเคมีอันตรายที่มีการเก็บและใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการรายงาน (อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2564)

 

10 เดือนเลิกกิจการกว่า 500 โรง

นายวันชัยกล่าวถึงสถานะโรงงานอุตสาหกรรมว่าใน ช่วง 10 เดือนปีนี้มีจำนวนโรงงานที่เลิกประกอบกิจการ จำนวน 569 โรงงาน ลดลงร้อยละ 7.63 มูลค่าการลงทุนของโรงงานที่เลิกกิจการ 35,244.04 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.29 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (กราฟิกประกอบ)

 

อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า  ภารกิจใหม่ที่อยากผลักดันทำให้สำเร็จมี 2 เรื่อง  คือ 1.การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบเอกชนตามพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 (Third party) ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำนวนมาก ประกอบกับจำนวนพนักงานเจ้าหน้าที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อการกำกับดูแลโรงงานอย่างทั่วถึง ดังนั้นการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบเอกชน เพื่อเป็น third party มาทำหน้าที่ตรวจสอบสอบโรงงานแทนเจ้าหน้าที่ ที่มีอยู่อย่างจำกัด จะถือเป็นการถ่ายโอนงานเพื่อทำให้การตรวจสอบโรงงานเป็นไปได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

2.การกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องกากอุตสาหกรรม ต้องมีประสิทธิภาพ โดยกากอุตสาหกรรมที่มีการขออนุญาตนำออกต้องเข้าสู่ระบบทั้งหมด จะต้องไม่มีการแอบลักลอบนำไปทิ้งตามที่ต่าง ๆ ดังที่เป็นข่าวอีกต่อไป

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,734 วันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564