ส.อ.ท.จี้เร่ง 3 เครื่องยนต์หลัก เคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้น โต้คลื่น FDI หด

17 ต.ค. 2564 | 01:37 น.

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายปีนี้ และปี 2565 หลังโควิดคลี่คลาย ภาคส่งออก การลงทุน ท่องเที่ยว จะยังเป็นความหวังของไทยได้หรือไม่ และอะไรคือความท้าทายในระยะยาวของไทย

 

ส.อ.ท.จี้เร่ง 3 เครื่องยนต์หลัก เคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้น โต้คลื่น FDI  หด

 

ต้องจับตาความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจโค้งท้าย (ต.ค.-ธ.ค.) ปี 2564 ที่จะเป็นแรงหนุนส่งต่อไปยังปี 2565 ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ความล่าช้าของวัคซีน, การกลายพันธุ์ของไวรัส, ภาวะการเงินอาจตึงตัวอย่างรวดเร็ว (จากการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินในประเทศที่พัฒนาแล้วที่คาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้) และการระบาดของโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวของประเทศที่กำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ช้ากว่าที่คาด

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ฉายภาพรวมทางเศรษฐกิจผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” โดยได้โฟกัสถึงเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและทิศทางเศรษฐกิจโลกนับจากนี้อย่างน่าสนใจ

 

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากรายงาน World Economic Outlook (WEO) ของ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2564 จะเติบโตที่ระดับ 6% ซึ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดจากที่หดตัว -3.2% ในปี 2563 โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ 7% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ระดับ 6.4% ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนคาดจะเติบโต 4.6% หลังจากหดตัว 6.5% ปีที่แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจจีนและอินเดีย คาดจะขยายตัวที่ระดับ 8.1% และ 9.5% ตามลำดับ

 

ส่วนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย IMF คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับเฉลี่ย 4.3% ลดลง 0.6% (จากการคาดการณ์เมื่อ 3 เดือนก่อน) และประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ 4.9% แต่รูปแบบของการฟื้นตัวจะยังคงไม่ทั่วถึงและมีความแตกต่างกันในรายประเทศ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะมีทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นในปี 2565

 

 

 

ส.อ.ท.จี้เร่ง 3 เครื่องยนต์หลัก เคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้น โต้คลื่น FDI  หด

 

 

เร่ง3ตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ย้อนมามองไทย นายเกรียงไกร กล่าวว่า จำเป็นต้องเร่ง 3 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจก่อนโดยเฉพาะปี 2565ไล่ตั้งแต่ 1.การส่งออก เครื่องยนต์สำคัญที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่จะส่งต่อไปในปี 2565 ได้ดี หลังจากที่หลายเครื่องยนต์ต้องสะดุดลง โดยมีปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักสำคัญของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน

 

ขณะที่ภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดีจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเพื่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น

 

ด้านเงินบาทที่อ่อนค่าลงกลายเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทย เช่นเดียวกับที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงส่งผลดีต่อราคาสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ทำให้ได้ราคาดีขึ้น

 

2.ภาคการท่องเที่ยว เป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2563 - 2564 เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหดสูงถึงร้อยละ -36.6 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยทั้งสิ้นเพียง 6.7 ล้านคน ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเที่ยวในประเทศราว 95-100 ล้านคน-ครั้ง ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวลดลงราว 70-80% จากปี 2562

 

ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขของการฉีดวัคซีน 3 แสนโดสต่อวัน จะทำให้ไทยสามารถเปิดประเทศได้เต็มรูปแบบในไตรมาสแรก ปี 2565 โดยจะมียอดสะสมผู้ได้รับวัคชีนคิดเป็นร้อยละ 77 ของประชากรทั้งหมดจะช่วยดึงให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนได้เร็วในประเทศเศรษฐกิจหลัก เป็นผลดีต่อนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลักของไทย อาทิ ยุโรป จีน

 

 3.การลงทุนภาคเอกชน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า การลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.0 และ 6.0 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีขึ้นมาก ทั้งนี้ประเมินว่าตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวตามการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง และการบริโภคภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัว 

 

เศรษฐกิจโลกแบ่ง 3 ขั้วชัดเจนขึ้น

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจโลกจะถูกแบ่งเป็น 3 ขั้วตามภูมิภาคชัดเจนมากขึ้นคือสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ซึ่งส่งผลต่อการค้าและห่วงโซ่อุปทาน มาตรฐานและกฎเกณฑ์ เทคโนโลยีและบทบาทของภาครัฐผ่านช่องทางเครดิตแต่ละประเทศและอุตสาหกรรม โดยแนวโน้มการพึ่งตัวเองของเศรษฐกิจ 3 ขั้วหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงจะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำให้ผลประโยชน์ของ 3 ประเทศเสาหลักไม่ตรงกันมากขึ้น (divergent interest) และการค้าภายในภูมิภาคจะมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ทดแทนการค้าระหว่างภูมิภาคที่ลดลง รวมถึงปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลต่อการลงทุนและการเคลื่อนที่ของเงินทุน ดังนั้นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โลกในอนาคตจึงมีแนวโน้มเกิดการกระจายการลงทุนออกจากจีนมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาสินค้าหรือฐานการผลิตในจีน

 

สำหรับประเทศไทย เนื่องจากกระแสการลงทุนของโลกหลังโควิด-19 จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนจากรูปแบบห่วงโซ่การผลิตโลกที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง มาเป็นห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาคกระจายตัวทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้รับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 1,100-1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2564-2566 หรือเพิ่มขึ้น 0.7- 0.8% เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าของไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2563)

 

โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อยอดที่ไทยมีซัพพลายเชนครบวงจรอยู่แล้ว ซึ่งประเทศไทยก็ยังมีจุดแข็งอยู่ที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน และซัพพลายเชนที่ครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในบางประเภทสินค้า เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีซัพพลายเชนที่สลับซับซ้อน ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนยังคงเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนอยู่

 

จับตาความท้าทายระยะยาว

ส่วนในระยะยาว ประเทศไทยยังต้องเผชิญความท้าทายในการรักษาเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้ เนื่องจากกระแส Diversification จะทำให้มีฐานการผลิตในภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วโลก เช่น การตั้งฐานการผลิตที่เม็กซิโกเพื่อตอบโจทย์ตลาดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ หรือการตั้งฐานการผลิตในยุโรปตะวันออกเพื่อตอบโจทย์ตลาดยุโรป จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติถูกกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้ไทยอาจได้รับเม็ดเงินลงทุนในการผลิตสินค้ากระแสหลักลดลงในอนาคต

 

นอกจากนี้ กระแส Reshoring หรือกระแสเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูงย้ายโรงงานกลับประเทศในสินค้านวัตกรรมจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในเทคโนโลยีขั้นสูงหรือสินค้านวัตกรรมจะมีน้อยลงตามลำดับ ดังนั้นในระยะต่อไปทางออกที่ยั่งยืนในการพัฒนาประเทศไทยคือการมีเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตัวเอง จากปัจจุบันบริษัทชั้นนำของไทยต่างพยายามมุ่งสู่ธุรกิจที่สร้างนวัตกรรมมากขึ้น

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,723 วันที่ 17 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564