Green Fitness คนก็เฟิร์ม โลกก็เฟิร์ม

27 พ.ค. 2564 | 11:10 น.

Green Fitness คนก็เฟิร์ม โลกก็เฟิร์ม : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,682 หน้า 5 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม 2564

ในปัจจุบัน กระแสสังคมสองกระแสที่กำลังมาแรง คือ กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ กระแสการดูแลสุขภาพร่างกาย การดำเนิน ธุรกิจสีเขียว หรือ Green Business ที่สอดรับกับกระแสรักษ์โลกและความยั่งยืน ได้รับความนิยมมากขึ้น สินค้าต่างๆ ก็นิยมที่จะทำเป็นแบบ eco-friendly หรือที่เป็นมิตรที่ต่อสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งสถานที่ออกกำลังกาย หรือที่เราเรียกกันว่าฟิตเนส ก็หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

ฟิตเนสสีเขียว หรือ Green Fitness หมายถึงสถานที่ออกกำลังกายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง อาจจะใช้ชื่อว่า Eco Fitness หรือว่า Eco Gym ก็ได้ แนวคิดดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ การดำเนินงานในทุกขั้นตอนจะให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้พลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารเคมีสู่ธรรมชาติ อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การสร้างพลังงานสะอาด การสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคม และสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย

Green Fitness เริ่มมาจากที่ใด แนวคิด Green Fitness นั้นถูกบุกเบิกอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในปี ค.ศ. 2008 โดยคุณ Adam Boesel ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งฟิตเนสชื่อ The Green Microgym ที่เมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงแรก ความพิเศษของฟิตเนสแห่งนี้อยู่ตรงที่การให้บริการจักรยานที่คุณ Adam พัฒนาขึ้นมาจนสามารถแปลงพลังงานจากการปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับการใช้งานต่างๆ ได้ แต่ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนมาให้บริการเครื่องออกกำลังกายสร้างพลังงานได้จากบริษัท SportsArt แทน 

นอกจากนี้ ทางฟิตเนสมีข้อปฏิบัติด้านการประหยัดพลังงานอย่างเคร่งครัด โดยได้รับความร่วมมือจากสมาชิก ทำให้ประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้มากถึง 888,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 85% เมื่อเทียบกับฟิตเนสธรรมดาทั่วไปที่มีขนาดเท่ากัน ซึ่งเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ได้มากเกือบ 800 ตัน ทำให้ฟิตเนสแห่งนี้มี Carbon Footprint เพียง 1 ใน 10 ของฟิตเนสทั่วๆ ไป 

คำถามต่อมาก็คือ แล้ว Green Fitness ควรมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

การดำเนินธุรกิจฟิตเนสอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่มีลักษณะที่ตาย ตัว แต่ผู้เขียนจะขอเสนอแนะแนวปฏิบัติ 3 ข้อที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

 

1. นวัตกรรมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย 

ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น หลายบริษัทได้คิดค้นและพัฒนาเครื่องออกกำลังกายที่ช่วยประหยัดพลังงาน ตัวอย่างเช่น บริษัท SportsArt ได้ออกเครื่องออกกำลังกายรูปแบบใหม่ อาทิ เครื่องเดินวงรี จักรยาน ที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจากภายนอก หรือลู่วิ่งที่กินไฟน้อยกว่าลู่วิ่งปกติถึง 32% ทั้งนี้ เป็นเพราะในเครื่องออกกำลังกายเหล่านี้ มีการติดตั้งเครื่องแปลงพลังงานขนาดเล็กที่จะทำการแปลงพลังงานจลน์จากการออกกำลังของผู้ใช้งาน มาเป็นพลังงานสะอาดในรูปของไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งจะถูกส่งต่อเข้าระบบไฟฟ้าไว้ใช้สำหรับการทำงานของเครื่อง นอกจากนี้ ยังสามารถนำไฟฟ้าที่แปลงมาได้ส่วนเกินไปใช้งานต่อกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ได้อีกด้วย 

เสื่อออกกำลังกาย หรือ เสื่อโยคะโดยทั่วไปมักจะทำมาจากพลาสติก PVC (Polyvinyl Chloride) ที่มีการเติมสารเสริมสภาพพลาสติก (Plasticizer) ที่อาจจะหลุดปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้หากใช้ไปนานวันเข้า หรืออาจทำมาจาก TPE (Thermoplastic Elastomer) ที่เกิดจากการผสมกันระหว่างยางธรรมชาติกับพลาสติก ซึ่งเสื่อแบบ TPE สามารถนำกลับมาหลอมเหลวและขึ้นรูปใหม่ได้ 

 

Green Fitness  คนก็เฟิร์ม โลกก็เฟิร์ม

 

 

อย่างไรก็ตาม เสื่อ TPE ก็ยังไม่ได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 100% ดังนั้น หากอยากจะมั่นใจว่าเสื่อที่ใช้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็ควรเลือกใช้เสื่อที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ อาทิ ยางพารา ปอกระเจา ไม้ไผ่ ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้ใหม่

ความสะอาดของฟิตเนสถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้า ดังนั้น ประเด็นนี้จึงไม่ควรถูกมองข้ามเพราะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดส่วนใหญ่มีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds : VOCs) ที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จนอาจทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ดังนั้น ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ปราศจากสาร VOCs เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดต่อสุขภาพของคนในฟิตเนสและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

2. ประหยัดนํ้า ประหยัดไฟ

ฟิตเนสควรรณรงค์ให้สมาชิกมีความรับผิดชอบต่อการใช้พลังงานต่างๆ ภายในฟิตเนส โดยการใช้นํ้าเท่าที่จำเป็น และปิดนํ้าให้สนิทเมื่ออาบนํ้าเสร็จ เปิดไฟ พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศเท่าที่จำเป็น และทำการปิดสวิตช์ ถอดปลั๊กเครื่องออกกำลังกายและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เมื่อเลิกใช้ นอกจากนี้ การเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน เช่น หัวฝักบัวและก๊อกแบบประหยัดนํ้า (Low-flow) หลอดไฟ LED เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ และการหมั่นตรวจสอบ รักษาสภาพอุปกรณ์ต่างๆ ก็จำเป็นอย่างยิ่ง

 

3. ลดขยะและจัดการขยะอย่างถูกวิธี

ฟิตเนสควรจัดเตรียมตู้นํ้าดื่มไว้คอยให้บริการแก่ลูกค้าที่พกพากระบอกนํ้ามาเอง แทนการติดตั้งแก้วกระดาษตรงตู้กดนํ้า งดจำหน่ายนํ้าขวดพลาสติกและเครื่องดื่มกระป๋องต่างๆ เพื่อลดปริมาณขยะ และควรส่งเสริมการแยกขยะ โดยการจัดตั้งถังขยะแยกประเภท พร้อมป้ายกำกับอย่างชัดเจน เพื่อนำส่งต่อไปรีไซเคิลที่โรงงานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

จากสามหลักการดังกล่าว ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าฟิตเนสทุกที่สามารถทำได้อย่างนี้แล้ว ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของฟิตเนสจะลดลงอย่างมาก สุขภาพของบุคลากรและผู้ใช้บริการจะไม่ถูกบั่นทอนด้วยสารเคมีอันตราย ภาพลักษณ์ของฟิตเนสด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยเพิ่มชื่อเสียง ทำให้มีผู้มาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น สมาชิกจะเกิดความตระหนักต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และที่สำคัญที่สุด สำหรับผู้บริโภคเอง เมื่อการออกกำลังกายสามารถสร้างพลังงานสะอาดได้ ความกระตือรือร้นที่จะออกกำลังกายก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะยิ่งออกกำลังมาก ยิ่งสร้างพลังงานได้มาก และก็ทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นอีกด้วย 

การดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองสามารถทำควบคู่กันไปได้กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่ง Green Fitness ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจที่ได้นำสองกระแสหลักที่กำลังมาแรงรวมเข้าด้วยกัน ดังนั้น หากผู้ที่สนใจจะมีกิจการฟิตเนสเป็นของตัวเอง หรืออาจมีอยู่แล้ว ก็สามารถลองปรับใช้แนวคิดนี้ โดยอาจจะเริ่มจากวิธีง่าย ๆ ก่อน 

อย่างการขอความร่วมมือจากสมาชิกในการประหยัดพลังงานและการแยกขยะ จากนั้นค่อยขยับมาใช้วิธีที่มีต้นทุนสูงขึ้น อย่างการใช้เครื่องออกกำลังกายที่สามารถสร้างพลังงานได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าในระยะยาว เพียงเท่านี้ พวกเราทุกคนก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมสุขภาพดีภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนแล้ว  

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณคุณมนัชญา ชูยิ่งสกุลทิพย์ สำหรับการค้นคว้าและช่วยรวบรวมข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้