เรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 เพื่ออะไร

17 ธ.ค. 2563 | 03:00 น.

เรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 เพื่ออะไร : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3636 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-19 ธ.ค.2563 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

 

ประเทศไทยมีประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2451 เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ทรงประกาศใช้เป็นประมวลกฎหมายเรียกว่า “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127” ซึ่งถือว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เพราะเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของสังคมไทย และถือว่ามีการยกระดับขึ้นสู่ระดับอารยะประเทศ เพราะได้นำเอาหลักกฎหมายอาญาอันเป็นที่นิยมในประเทศต่างๆ รวมถึงหลักกฎหมายของอังกฤษมาเป็นแนวทางกฎหมายนี้ โดยมีทั้งสิ้นรวม 340 มาตรา ใช้บังคับมาจนถึง พ.ศ.2486 จึงได้มีการปรับปรุงใหม่เป็นกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2486 และใช้ต่อมาจนถึง พ.ศ.2499 จึงได้ปรับปรุงใหม่อีกครั้งคือ ประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 เป็นต้นมา
 

นับแต่มีการประกาศใช้กฎหมายอาญาดังกล่าว และเนื่องด้วยประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ จะมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ประมวลกฎหมายอาญาของไทย จึงมีบทบัญญัติคุ้มครองประมุขแห่งรัฐไว้เช่นเดียวกับประมุขแห่งรัฐของชาติอื่นๆ ทุกประเทศ โดยบัญัติไว้ในกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”


การที่ประเทศไทยมีบทบัญญัติกฎหมายอาญา เพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ดังกล่าว นอกจากเพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ยังถือเป็นสถาบันหลักของชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย ย่อมต้องมีบทกฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลโดยทั่วไป และบทคุ้มครองดังกล่าวก็มิได้แตกต่างจากประมุขประเทศอื่นๆแม้จะมีระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน เพราะทุกๆประเทศไม่ว่าจะปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ล้วนแต่มีบทกฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐเช่นเดียวกับประเทศไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือประเทศในแถบยุโรปก็มิแตกต่างกัน
 

ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีการดำเนินคดีกับบุคคลฐานแสดงการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรืออาฆาต มาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จึงมิใช่เรื่องผิดปกติหรือเป็นการบังคับใช้กฎหมายอาญาที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด เพราะแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีคดีตัวอย่างเมื่อหนุ่มมะกันเขียนบทกวีข่มขู่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งมีฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ ยังถูกศาลในเมืองหลุยส์วิลล์ มลรัฐเคนตักกี พิพากษาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2553 ให้จำคุกนายจอนห์นี่ โลแกน สเปนเซอร์ เป็นเวลาถึง 33 เดือน ด้วยข้อหาข่มขู่นายบารัก โอบามา
 

เพราะบทกวีของเขามีเนื้อหาบรรยายถึงการใช้ปืนสไนเปอร์ลอบยิงประธานาธิบดีสหรัฐฯและโพสต์ขึ้นบนเว็บไซต์ อีกรายก็เป็นวัยรุ่นชาวอังกฤษ นายลุก แองเจล อายุ 17 ปี ส่งอีเมล์ไปยังทำเนียบขาว หลังจากได้ดูรายการทีวีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐเมื่อ 11 กันยายน 2544 พร้อมกับเรียกนายโอบามาว่า “a prick” ซึ่งเป็นศัพท์สแลงมีความหมายถึงอวัยวะเพศชาย แม้ไม่มีการดำเนินคดีกับเด็กวัยรุ่นคนนั้น แต่เขาก็ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา
 

หลักการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ ซึ่งต้องมีความพิเศษมากกว่าบุคคลธรรมดานั้น ถือเป็นเรื่องปกติในสากลที่ทุกประเทศปฏิบัติ นอกจากนี้แล้ว ประเทศอื่นๆที่มีสัมพันธไมตรีต่อกัน ก็มีกฎหมายปกป้องประมุขของรัฐอื่นด้วย เช่นในประมวลกฎหมายอาญาของไทย ก็มีบัญญัติไว้ในมาตรา 130-134
 

มาตรา 130 บัญญัติว่า ผู้ใดทำร้ายร่างกายหรือประทุษร้ายต่อเสรีภาพของราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาทหรือประมุขแห่รัฐต่างประเทศซึ่งมีสัมพันธไมตรี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี


ความผิดเดียวกันตามมาตรา 130 ถ้ากระทำต่อผู้แทนรัฐต่างประเทศต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี โดยบัญัติไว้ในมาตรา 131
 

มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
 

ความผิดตามมาตรา 133 ถ้ากระทำต่อผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 134
 

บทบัญัติดังกล่าวของประมวลกฎหมายอาญา ย่อมแสดงให้เห็นว่ามิได้บัญญัติเพียงเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขของไทยเท่านั้น ประมุขแห่งรัฐและผู้แทนรัฐต่างประเทศ ก็ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน หากจะเรียกร้องให้ยกเลิก มาตรา 112 อันเป็นบทคุ้มครองประมุขแห่งรัฐไทย แล้วทำไมไม่เรียกร้องให้ยกเลิกบทคุ้มครองประมุขแห่งรัฐต่างประเทศด้วย ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ไร้เดียงสาของนักกฎหมายและนักวิชาเกินของไทยบางคน
 

เกี่ยวกับความผิดดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ประมวลกฎหมายอาญาของไทยยังมีบทคุ้มครองเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน คุ้มครองศาลและตุลาการในความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีหรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ตามาตรา 198 และคุ้มครองบุคคลธรรมดาทั่วไปในมาตรา 326-333 ซึ่งบุคคลธรรมดาก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทั้งในทางอาญาและทางแพ่งเรียค่าเสียหายได้
 

จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะมีเหตุให้ต้องยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะประเทศไทยที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบทคุ้มครองพระมหากษัตริย์และสถาบัน ให้เข้มแข็งมั่นคงสถาพรยิ่งขึ้นไป
 

การเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา112 จึงเท่ากับเป็นการเรียกร้องให้ล้มเลิกการมีสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง และก็เพื่อสนองความต้องการของพวกต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ต้องการด่าทอด้วยความหยาบคาย หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นด้วยความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อทำลายประเทศชาติและสังคมไทย ด้วยเจตนาชั่วร้ายของพวกเนรคุณแผ่นดินไทยเท่านั้นเอง
 

รัฐบาลและเจ้าหน้าที่จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอาญาทุกมาตรากับผู้กระทำผิด โดยไม่มีข้อแม้หรือข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น ต้องไม่ยอมก้มหัวให้แก่คนเลวที่ทรยศต่อแผ่นดินและไม่ควรให้คนเหล่านี้ มีที่ยืนชี้หน้าด่าคนไทยและประเทศไทยอีกต่อไป