รวมพลังหนึ่งเดียว สู้วิกฤติโควิด-19

11 มี.ค. 2563 | 06:10 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3556 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-14 มี.ค.63


          โรคระบาดไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 กระหน่ำซ้ำเติมประเทศไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งที่หนักหนาสาหัสพอสมควร ในการนำประเทศออกจากวิกฤติหรือการต่อสู้กับวิกฤติคราวนี้ ซึ่งจำต้องอาศัยพลังของคนไทยทุกคน ที่ต้องประสานร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว นำพาประเทศฝ่าวิกฤติร่วมกัน มีทิศทางเป้าหมายตรงกัน เห็นปัญหาร่วมกัน ตระหนักพิษภัยร่วมกัน เพราะสถานการณ์ฉุกเฉินคราวนี้สุ่มเสี่ยงล้มทั้งกระดานหรือพังไปด้วยกันทั้งหมด
          ผลกระทบจากโควิด-19 แยกเป็น 2 ภาคใหญ่ ผลกระทบด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบด้านสังคมนั้นต้องหาทางป้องกันร่วมกัน โดยเฉพาะจิตสำนึกร่วมทางสังคมที่ต้องเห็นร่วมกันในการแก้ปัญหา และคนไทยจำต้องมีวินัย เดินตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกัน ดูแลการแพร่ระบาดของโรค โดยต้องมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะแพทย์ไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแล รักษา ป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค คนไทยต้องไม่คิดแหกกฎเกณฑ์แนวทางที่สาธารณสุขวางไว้ และกระทรวงเองต้องตอกย้ำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในมาตรฐานการดูแลป้องกันด้วยเช่นเดียวกัน

          ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมารุนแรง โควิด-19 ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจที่อ่อนเปลี้ยอยู่ในภาวะถดถอย เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจแทบทุกตัวดับสนิท การลงทุน การส่งออก-นำเข้า การท่องเที่ยว การบริโภค หรือเพียงการใช้จ่ายภาครัฐเครื่องยนต์เดียวเท่านั้น แต่งบประมาณที่ผ่านสภาล่าช้า ทำให้เครื่องยนต์นี้ยังออกสตาร์ตไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว มีการเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากขึ้น ภาคท่องเที่ยวรับผลกระทบตรงในทันทีไปแล้ว ทั้งสายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร รวมทั้งภาคเกษตรก่อนหน้านี้ที่กระทบ ปัญหาจะลุกลามไปสู่การเบี้ยวหนี้กลายเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงิน เป็นวงจรสำคัญที่ต้องถูกกระทบ
          รัฐบาลจำต้องนำในการคลี่คลายวิกฤติ โดยควรแก้ปัญหาทั้งระบบไปพร้อมกัน มากกว่าการทำทีละภาคส่วน เพราะเป็นปัญหากระทบทั้งวงจร การบริหารวิกฤติจึงต้องประเมินเป็นระยะและใช้วิธีการผสมผสานที่หลากหลาย มากกว่ามุ่งเน้นการแจกเงินเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย หากเป็นการแจกเงินต้องประเมินช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพิสูจน์ภาวะผู้นำในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนี้ หลังจากประชาชนให้โอกาสนายกฯมายาวนานและน่าจะเป็นโอกาสท้ายๆ ของการทำหน้าที่สำคัญ ถือธงนำประเทศสู้วิกฤติ ต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าสามารถดูแลแก้ปัญหาได้ ต้องมีความกล้าหาญในการปลดเปลื้องพันธนาการที่รกรุงรังบั่นทอนกัดเซาะความเชื่อมั่นรัฐบาลในการแก้ปัญหา กอบกู้ภาวะวิกฤติศรัทธาที่ก่อตัวและลุกลามเข้าหาตัวนายกฯ อย่างรุนแรงในขณะนี้ ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสให้นายกฯมากนักแล้ว ต้องเร่งมือก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป