วาระลวงโลก แก้ฝุ่นมรณะ PM 2.5

04 ต.ค. 2562 | 07:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คอลัมน์ปฏิกิริยา ฐานเศรษฐกิจ ...โดย บิ๊กอ๊อด ปากพนัง

 

ราวต้นปี 2562 หากยังจำกันได้ ได้เกิดสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐาน จนชาว กทม.สะพรึง หลังจากนั้นรัฐบาลได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป แล้วมันก็หายไปราวครึ่งปี

 

และแล้วเจ้าปีศาจน้อยมันก็กลับมาใหม่ ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มตั้งแต่ 24 กันยายน 2562 โดยแตะระดับที่เกิน 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และในบางช่วงเวลาสูงถึง 202 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ในวันที่ 30 กันยายน 2562 ในบางพื้นที่ ขณะที่ค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้คือไม่เกิน 50 ไม่โครกรัม/ลบ.ม. 

 

นับได้ว่าครั้งนี้ค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่าครั้งก่อนหน้ามาก โดยสภาพอากาศนิ่งและปิดได้ครอบคลุม กทม.จนละอองฝุ่นไม่สามารถลอยไปตามอากาศได้

 

ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด เช่น การเผาไหม้(ควันดำ)ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่

 

จะสังเกตได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เริ่มรุนแรงมากขึ้นและเริ่มกลายเป็นปัญหาเรื้อรังวนรอบกลับมาพบเจออีกพร้อมมีความถี่มากขึ้นจากแต่เดิมที่จะเกิดเป็นปัญหาหนักๆในรอบหลายๆปี

 

ในทุกครั้งที่เกิดปัญหา รัฐจะแอกทีฟมากทุกหน่วยงานในช่วงแรก พอสถานการณ์คลี่คลายก็เงียบไป ขาดความต่อเนื่อง ยิ่งหน่วยงานเอกชนด้วยแล้ว ทำได้แค่ขอความร่วมมือ เช่น พ่นน้ำบริเวณก่อสร้าง ลองไปดูเถอะ ไม่มีหรอก 

 

นี่ละครับจิตสำนึกคนไทย คุณเคยเห็นผู้รับเหมาโครงการรถขนส่งมวลชน แถลงข่าวให้ความร่วมมือลดมลพิษมั้ย 

 

ดูเหมือนจะมีแต่หน่วยงานเดียว ซึ่งต้องรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว คือ กรมควบคุมมลพิษยังคงดำเนินมาตรการแก้ไขต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ 

 

ขณะเดียวกันก็จะดำเนินมาตรการแก้ไขระยะกลางและระยะยาว โดยแบ่งออกไป 2 ช่วง คือ ระยะกลางตั้งแต่ปี 2562 – 2564 และระยะยาวไปจนถึงปี 2566 ซึ่งจะมีการปรับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร 5 ปรับการใช้รถยนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม และงดการเผาในที่โล่งแจ้ง  

 

แต่แค่หน่วยงานเดียว เหมือนตบมือข้างเดียว ย่อมไม่ดัง ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันอย่างจริงใจและจริงจัง ไม่ใช่ทำแบบ”ขายผ้าเอาหน้ารอด”

 

เราจะสังเกตได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เริ่มรุนแรงมากขึ้นและเริ่มกลายเป็นปัญหาเรื้อรังวนรอบกลับมาพบเจออีกพร้อมมีความถี่มากขึ้นจากแต่เดิมที่จะเกิดเป็นปัญหาหนักๆในรอบหลายๆปี

 

ส่วนใหญ่มักมองเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ  เศรษฐกิจมาเป็นลำดับแรกๆ ปัญหาอื่นไว้ทีหลัง

 

ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จบูรณาการแบบจริงๆจังๆหรือได้รับการแก้ไขแบบขอไปที ตามสถานการณ์เฉพาะหน้า แล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ก็จะวนซ้ำกลับมาเหมือนเดิมอีกหรือหนักกว่าเดิมด้วยความถี่ที่มากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

 

 

เกิดเหตุการณ์ครั้งหลังนี้ทำให้ผมนึกถึงสาวน้อยวัยกระเตาะ แต่มีความจริงจังมุ่งมั่นเกินวัย นั่นคือ  “เกรตา ธันเบิร์ก” เด็กหญิงชาวสวีเดนวัยเพียง 16 ปี นักขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศผู้กลายเป็นตัวแทนพลังของเยาวชน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากจกระตุ้นจิตสำนึกของพลเมืองโลก ด้วยคำพูดเฉียบคมโดนใจ คนทั่วโลก

 

 เธอกล่าวตำหนิบรรดาผู้นำโลกว่ามัวแต่สนใจตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจและละเลยการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกอย่างจริงจัง ในงานกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา

 

“ระบบนิเวศทั้งหมดกำลังพังทลาย เรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณพูดมีแต่เรื่องเงินและเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด คุณกล้าดียังไง!”

 

ใจจริงนั้น ผมอยากขอยืมคำพูดเธอมาใช้ เพราะมันชัดเจน ผลที่เกิดขึ้นมักเกิดจากคนทั้งโลก และไม่ควรปล่อยผ่านให้เป็นปัญหาของคนรุ่นต่อๆไป

 

พูดหยาบๆ ก็คือเค้าเรียกว่า ให้เด็กมาด่า มากระตุ้นต่อมสำนึกผู้ใหญ่ 

 

ผมขอฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ ทำงานทำอะไรให้จริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อเราทุกคน เพราะทุกคนต้องหายใจ ต้องอยู่บนโลกนี้เหมือน ๆกัน         

 

อย่ารอจนปัญหาจวนตัวหรือวินาทีสุดท้าย ซึ่งอาจจะไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้อีกเลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปฏิกิริยา : ป่วย-ตายจากฝุ่นพิษ เรียกค่าเสียหายจากรัฐได้มั้ย