พลังงานแสงอาทิตย์ โอกาสผู้ใช้พลังงานไทย

27 ก.ย. 2562 | 23:25 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

     ทันทีที่เข้ามากุมบังเหียนกระทรวงพลังงาน สิ่งที่ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขับเคลื่อนและพร้อมคิกออฟ เรื่องหลักๆ คือ ประกาศนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้า “ทำให้พลังงานเป็นเรื่องของทุกคน หรือ Energy for All”  สนับสนุนภาคประชาชน ชุมชน มีส่วนร่วมในการ “ลดค่าใช้จ่าย” และ “สร้างรายได้” จากพลังงานควบคู่ไป 

นอกจากนี้ยังออกมาประกาศชัดถึงการชูธงเดินหน้าปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561- 2580 หรือ PDP2018 โดยเพิ่มสัดส่วนการสร้างพลังงานทดแทน  ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงพลังงานทดแทนได้มากขึ้น

พลังงานแสงอาทิตย์ โอกาสผู้ใช้พลังงานไทย

     ต่อยอดโครงการ  “โซลาร์ภาคประชาชน”  นโยบายภายใต้แผน PDP2018 ที่สตาร์ตโครงการไปแล้วเมื่อกลางปี 2562 โดย “รัฐ” รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากภาคประชาชน ปริมาณ 10,000  เมกะวัตต์   นำร่องรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์จากหลังคาบ้าน  หรือโซลาร์รูฟท็อป ทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์  แบ่งการรับซื้อผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 70 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 30  เมกะวัตต์ โดยผู้มีสิทธิยื่นชื่อเข้าโครงการต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1  หรือบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น

ที่น่าติดตามคือ  “โซลาร์ภาคประชาชน”  คือการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน เหลือใช้จากประชาชน ในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย  กำหนดเวลารับซื้อ 10 ปี  แต่ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่าราคารับซื้ออาจยังไม่จูงใจมากพอ บางรายรอดูตัวอย่างจากกลุ่มนำร่อง รวมทั้งข้อดีของการร่วมโครงการที่ยังไม่รับรู้อย่างแพร่หลาย ซึ่งในแง่กระทรวงพลังงานเอง ก็อยู่ในช่วงกำลังพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อนำไปปรับปรุง เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการในระยะต่อไป

 

-จับตาบรรดาผู้นำร่องรายใหญ่

     ปัจจุบันโครงการโซลาร์ภาคประชาชน มีผู้เล่นที่น่าจับตาคือ “บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA” เข้าร่วมโครงการนี้ เป็นลำดับแรกๆ เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรก ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย ติดตั้งให้บ้านทุกหลังในโครงการของเสนา  เว้นบ้านที่มีราคาน้อยกว่า 1 ล้านบาท  นอกจากจุดแข็งการติดตั้งแผงโซลาร์ให้กับลูกบ้านเท่านั้น  แต่พ่วงบริการแบบครบวงจร  ดำเนินการติดตั้ง พร้อมดูแลรักษา โดยบริษัท เสนา โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่เสนาถือหุ้น 100% 

พลังงานแสงอาทิตย์ โอกาสผู้ใช้พลังงานไทย

     เสนารับเป็นตัวกลาง นำพาลูกบ้านที่มีโซลาร์รูฟท็อป จากโครงการเสนาพาร์ค แกรนด์ รามอินทรา , เสนาพาร์ควิลล์ รามอินทรา-วงแหวน , เสนาวิลล์ บรมราชชนนี สาย 5 (ศาลายา) , เสนาแกรนด์ โฮม รังสิต-ติวานนท์ , เสนาช็อปเฮ้าส์ พหลโยธิน-คูคต และโครงการเสนาช็อปเฮ้าส์ บางแค เฟส 1 และเฟส 2 ยื่นสิทธิขายไฟฟ้าให้รัฐ  ถือเป็นกลุ่มผู้ยื่นสิทธิสูงสุดในปีนี้มากกว่า 164 ราย  ขายไฟฟ้าเข้าระบบมากกว่า 394.40 กิโลวัตต์ 

พลังงานแสงอาทิตย์ โอกาสผู้ใช้พลังงานไทย

     ด้านบริษัท แสนสิริ  จำกัด ก่อนหน้านั้นโดดจับมือกับ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เปิดตัวโฉมใหม่การผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยบีซีพีจีเป็นผู้ลงทุนติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในโครงการแสนสิริ เพื่อผู้อยู่อาศัยในโครงการสามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ด้วยตนเอง  รวมถึงยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างกันภายในโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยการใช้blockchain technology และแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นแผนระยะยาว 5 ปี เบื้องต้นมีโครงการของแสนสิริที่จะเข้าร่วมกว่า 20 โครงการ

        นอกจากนี้ล่าสุดแสนสิริยังออกมาเนรมิตเสาไฟอัจฉริยะที่ใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกว่า Smart Lighting Pole พัฒนาโดย Omniflow ซึ่งใช้พลังงานสะอาด 100% ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ย่านอ่อนนุช 1/1 และเข้าไปในเมือง T77 โดยเสานี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องเดินสายไฟ และไม่ต้องห่วงว่าหากไม่มีแดดหรือลมแล้วจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เพราะเสาไฟอัจฉริยะนี้ใช้แบตเตอรี่ชนิดพิเศษที่สามารถจ่ายไฟให้อยู่ได้นานถึง 3 วัน ติดตั้งขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าบริเวณถนนโดยรอบของศูนย์การค้า Habito Mall ภายในเมือง T77 สร้างให้เมืองได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างสมบูรณ์แบบถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่นำร่องใช้พลังงานสะอาด

  พลังงานแสงอาทิตย์ โอกาสผู้ใช้พลังงานไทย

                สำหรับโซลาร์รูฟท็อป อาจจะยังดูใหม่และอยู่ในวงจำกัดในเมืองไทย แต่ในหลายประเทศคืบหน้าไปไกลแล้ว  เช่น ในสหรัฐอเมริกา  มีการรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่สูงกว่าที่ขายให้กับผู้บริโภค ด้วยเหตุผลว่าไฟฟ้าจากโซลาร์นั้น ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม   ไฟฟ้าไม่สูญเสียในสายส่ง  และลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่  หรือเรียกว่าการให้คุณค่ากับพลังงานแสงอาทิตย์ (Value of Solar) มากกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ  ขณะที่ไทยนั้นไฟฟ้ากว่า 60% มาจากก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดลง ต้องนำเข้า แต่ปริมาณใช้ไฟยังคงเติบโตต่อเนื่อง

      เมื่อทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ไทยยังเดินสวนทาง เพราะการผลิตไฟฟ้ายังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จึงไม่อาจมองข้ามพลังงานสะอาดจากโซลาร์รูฟท็อป ที่กำลังทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไป

      พลังงานจากแสงอาทิตย์ จึงเป็นอนาคตที่มองข้ามไปไม่ได้ และเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ช่วยลดปัญหามลพิษ!!!

คอลัมน์ : Let Me Think

โดย     : TATA007