การระดมเงินทุน เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

01 พ.ค. 2562 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 22 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันคุ้มครองโลก” (International Mother Earth Day) โดยในปีนี้เครือข่ายวันคุ้มครองโลก (Earth Day Network) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 100 ประเทศ ได้จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้แนวคิดเรื่องการปกป้องสายพันธุ์ (protect our species) เพื่อกระตุ้นให้ประชากรโลกตระหนักถึงปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ (biodiversity) ที่เข้าขั้นวิกฤติ ถึงกับมีการกล่าวว่า โลกของเรากำลังเข้าสู่ยุค “การสูญพันธุ์หมู่” (mass extinction) ครั้งที่ 66 ซึ่งครั้งสุดท้ายที่เกิดการสูญเสียความหลากหลาย ทางชีวภาพในระดับนี้เกิดขึ้นเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้วและเป็นเหตุให้ไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์ไป

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระดับ “การสูญพันธุ์หมู่” ครั้งนี้ แตกต่างจาก 5 ครั้งที่ผ่านมา เพราะความเสียหายครั้งนี้เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง จึงเป็นที่มาของการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในประเด็นนี้ผ่านการทำกิจกรรมในวันคุ้มครองโลกในปีนี้

ในประเทศไทยเอง ความหลากหลายทางชีวภาพถูกแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงการใช้สอยที่ดิน การขยายตัวของเมือง และการขยายตัวของประชากรคุกคาม ส่งผลให้ระบบนิเวศที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมของพืชและสัตว์นานาชนิดเสื่อม โทรมลงจนส่งผลกระทบต่อพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จำนวนมาก

นอกจากนี้ แรงกดดันสำคัญอีกประการหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดของเงินทุนที่ใช้ในการสนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์เพียงพอต่อการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ

การระดมเงินทุน  เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ซึ่งจากการประเมินโดยโครงการริเริ่มการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance Initiative หรือ BIOFIN) ในประเทศไทย พบว่าหากเปรียบเทียบจำนวนงบประมาณที่จำเป็นจะต้องใช้ในการบรรลุเป้าหมายทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับประเทศในปี 2564 กับงบประ มาณที่ไทยจัดสรรให้แก่งานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จะพบว่ายังคงขาดเงินอยู่ 31,978 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สูงเกือบ 3 เท่าของเงินงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ปัจจุบัน

ขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านสักนิดว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศในทุกยุคทุกสมัยจวบจนถึงทุกวันนี้ ยกตัว อย่างเช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมจากต่างชาติส่วนมาก เป็นสินค้าที่มาจากความหลากหลายทางชีวภาพในบ้านเรา เช่น ไม้กฤษณา ไม้จันทน์ ไม้สัก นอแรด งาช้าง รังนกรวมถึงข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในไทย

การระดมเงินทุน  เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ในช่วงต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลังสงคราม โลกครั้งที่ 2 อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และในปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพก็ยังคงสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ ผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ทางตรงและทางอ้อม ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก

นอกจากเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็น แหล่งคํ้าจุนชีวิตความเป็นอยู่ของ คนที่อยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แหล่งนํ้า และทะเล และยังเป็นแหล่งที่ให้บริการทางระบบนิเวศต่างๆ แก่มนุษย์อีกด้วย ซึ่งประโยชน์เหล่านี้คิดเป็นมูลค่ามหาศาล

จากความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อเศรษฐกิจของประเทศ และปัญหาภัยคุกคามที่เกิดจากการขาดแคลนทุนในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ของประเทศนั้น โครงการ BIOFIN จึงได้จัดให้มีการศึกษาเพื่อหาแนวทางการระดมเงินทุนที่ตอบโจทย์ของประเทศ และได้จัดการประชุมร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้ โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันคัดเลือกเครื่องมือการระดมทุน (finance solutions) ที่เห็นว่าน่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยได้

ซึ่งแนวทางการระดมทุนเหล่านี้มีทั้งการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ประโยชน์ การสร้างกอง ทุนเพื่อการอนุรักษ์ การกำหนดมาตรฐานความยั่งยืน  การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการลงทุนในธุรกิจที่สร้างประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity impact investing) เป็นต้น

การระดมทุนเหล่านี้ มุ่งหวังที่จะนำเงินทุนมาจากภาคประชาชนและภาคเอกชน เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ให้งบประมาณด้านความหลากหลายทางชีวภาพหลักของประเทศ โดยในปัจจุบัน ทางโครงการ BIOFIN มีแผนการที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้ไปทดลองใช้ในลักษณะโครงการนำร่องเพื่อศึกษาเครื่องมือเหล่านี้ให้ละเอียดยิ่ง ขึ้นต่อไป 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3466 ระหว่างวันที่ 2 - 4 พฤษภาคม 2562

การระดมเงินทุน  เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ