รีดภาษีดิจิตอล?

24 มี.ค. 2561 | 06:47 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

TP10-3350-1C เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับในการกำกับดูแลและควบคุมการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี หรือการสร้างเงินสกุลดิจิตอลและการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิตอล หรือ ไอซีโอ (Initial Coin Offering) ซึ่งก็คือร่าง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ และร่าง พ.ร.ก. ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิตอล) โดยเนื้อหาหลักๆ ก็คือการรีดภาษีดิจิตอล โดยจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และ ภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% นั่นเอง

ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐครับ ที่จะต้องทำหน้าที่เก็บภาษีเข้าสู่คลังส่วนกลางของประเทศจากการทำรายได้ของประชาชนในประเทศ ซึ่งร่างพ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับ ก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่รัฐต้อง “ก้าวให้ทัน” กับรูปแบบของการระดมทุนและการลงทุนที่เปลี่ยนไป

แต่ปัญหาหลักๆ และสำคัญก็คือ ภาครัฐจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการทำธุรกรรมดิจิตอลเกิดขึ้นตรงไหน ใครเป็นคนทำ ใครได้เงิน ใครได้กำไร ไม่ทราบว่าภาครัฐคิดจะเก็บภาษี แต่ต้องถามต่อว่าระบบของเราพร้อมที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของการทำธุรกรรมดิจิตอลหรือไม่?

เรื่องนี้ต้องตั้งต้นกันตั้งแต่ปรัชญาหลักของการสร้างสกุลเงินดิจิตอล ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับระบบ “บล็อกเชน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

TP10-3350-2C บล็อกเชน คือระบบที่ได้รับการสร้างขึ้นมา เป็นการติดต่อกัน ทำธุรกรรมกันระหว่างผู้กระทำ 2 คน โดยไม่ผ่านตัวกลาง โอนเงินไม่ต้องผ่านแบงก์เป็นต้น นายเอ โอนให้นาย บี โดยตรง โดยใช้ สกุลเงินดิจิตอล ซึ่งการทำธุรกรรมแบบนี้ ได้รับการออกแบบไว้หลักๆก็คือ “การไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของภาครัฐ และตัวกลาง”

โดยผู้ที่อยู่ในระบบบล็อกเชนเหล่านี้จะมีระบบกระเป๋าสตางค์ของตัวเอง ซึ่งเรียกว่า Wallet (วอลเลต) ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับบัญชีธนาคารนั่นละครับ เพียงแต่ไม่ได้เป็นบัญชีขึ้นกับธนาคารเหมือนแต่ก่อน และแต่ละบัญชีก็จะมีการเข้ารหัสเป็นส่วนตัวไว้ด้วยรหัสทางคณิตศาสตร์

ที่ผมบอกว่ารัฐจะรู้ได้อย่างไร ว่าวันๆ มีเงินเข้ากระเป๋าสตางค์ของคนคนนั้นเท่าไร มีการขายเงินดิจิตอล คนคนนั้นได้กำไรไปเท่าไร ก็เพราะว่า ในโลกของเงินดิจิตอลนั้น ไม่มีการลงทะเบียนใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง ครับ มีแต่การใช้นามแฝงทั้งนั้น ไม่เหมือนกับการเปิดบัญชีกับธนาคารที่จะต้องมีการแสดงอัตลักษณ์บุคคลอย่างชัดเจน

ดังนั้น เราจะไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่า กระเป๋าสตางค์นี้เป็นของใคร คนคนนี้มีบัญชีดิจิตอลหรือไม่ เหมือนกับที่ทุกวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า ผู้ที่คิด ค้นสกุลเงิน “บิตคอยน์” ที่ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นกันอยู่นั้นคือ ใครกัน รู้เพียงแต่ว่าเป็นคนที่ใช้นามแฝงว่า “Satoshi” เท่านั้น

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ และนี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ทางการเกาหลีใต้ออกระเบียบเมื่อไม่นานมานี้ว่า ผู้ที่จะเล่นสกุลเงินดิจิตอล จะต้องลงทะเบียนด้วยใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง เพื่อที่จะแกะรอยให้ได้ว่าเจ้าของกระเป๋าสตางค์นั้นๆ คือใคร แต่ก็ใช่ว่า จะมีคนเชื่อฟังนะครับ เพราะการเปิดวอลเลตนั้นทำได้โดยเสรีในโลกดิจิทัลอยู่แล้ว

การที่ภาครัฐออกร่างกฎหมายจะรีดภาษีดิจิตอลนั้น ดูเหมือนว่าจะ “ทันยุคทันสมัย” แต่ในความเป็นจริงภาครัฐต้องย้อนกลับไปถามตัวเอง ว่าเรามี กลไกอะไรที่จะแกะรอยการทำธุรกรรมในโลกดิจิตอลได้บ้างครับ

เกรงว่าก็จะเหมือนกับหลายๆนโยบายที่ต่างชาติเขาชอบวิจารณ์ไทยเอาไว้ว่า เราเก่งกับการออกนโยบาย แต่ไม่เก่งกับการทำให้นโยบายนั้นๆเกิดขึ้น หรือบรรลุได้จริง หรือการ Implement นั้น ไม่ค่อยจะทำได้จริง

ก็ฝากให้คิดกันครับ ...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,350 วันที่ 22 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว