ธรรมกลายก้าวสู่ ‘แบรนด์เนม...แห่งสัทธรรมปฏิรูป’

19 มี.ค. 2560 | 14:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เมื่อปัญหาวัด “ธรรมกาย-ธัมมชโย” ยังเป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ ก็คงต้องจับตาดูพัฒนาการของ “วัด-พระ” ต่อไปเรื่อยๆ เพราะจาก “ข้อมูล”ที่ทยอย “ปูด” ออกมาหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ปิด “จ๊อบ” หยุดภาระกิจตรวจค้นวัดเพื่อจับตัวพระธัมมชโยเมื่อสัปดาห์ก่อน!!!!

ที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนผ่านจาก “ธรรมกาย” สู่ “ธรรมกลาย”ที่เพื่อนเก่าแก่ผมคนหนึ่งได้เก็บรวบรวม “ข้อมูล” ไว้อย่างน่าสนใจและดีมากๆ จึงขอคัดจาก “เฟซบุ๊ค” ของเขามาเล่าต่อ....ขออนุญาตนะครับ

ในวัดธรรมกายมีพระเปรียญ 9 จำนวน 70 รูป มีพระดอกเตอร์อีกประมาณ 15-20 รูป ตั้งมหาวิทยาลัยสอนพุทธศาสนาทางไกลที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (ประเทศสหรัฐอเมริกา) สาขาวัดในต่างประเทศประมาณ 80 แห่งกระจายไปทั่วโลก สาขาในไทยที่เป็นสำนักสาขาฯ มีสมาชิกมีทุกจังหวัด

วัดที่อยู่ในสังกัดมีอยู่ทั่วประเทศ ติดจานดาวเทียมเปิดทีวี มีนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นสาวก นอกจากนี้ยังมีอะไรอีกเยอะแยะ และรู้ว่า วัดธรรมกายมีศักยภาพหลายอย่าง รวมทั้งรู้ว่าทั้งหมดนี้เป็นปณิธานที่พระธัมมชโยกับกลุ่มที่รวมตัวกันนี้ ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 40 ปี และสภาธรรมกายสากลเป็นจุดรวมศูนย์....

ดังนั้น กิจกรรมสวดมนต์ ภาวนาและการบริจาคจึงจำเป็นจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญตอนนี้ มหาธรรมกายเจดีย์ ก็กลายเป็นศูนย์รวมใจของชาวธรรมกายไว้ได้แล้ว (แม้จะไม่มีพระธัมมชโยก็สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้)

เพื่อนเก่าแก่ผมคนนี้ บอกด้วยว่าเขาศึกษาติดตามวัดธรรมกายมาก่อนสร้างวัดที่จ.ปทุมธานีเสียอีกเลยทำให้เขารู้เรื่องราวของวัดธรรมกาย ตั้งแต่ศูนย์ปฏิบัติธรรม หัวหน้าศูนย์ที่เริ่มแรกเขาก็บอกเคยรู้จักและเข้าไปร่วมนั่งภาวนาด้วย....รวมทั้งยังรู้ด้วยว่า เด็กๆนักศึกษาเข้าไปใช้ชีวิตในวัดธรรมกายได้อย่างไร? ตั้งแต่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัยและหลังเรียนจบ

ยกตัวอย่าง ลูกของเขาเองที่สอบได้ “ท็อป” ของคณะในมหาวิทยาลัยที่กำลังเรียนอยู่ นักศึกษาที่หาสมาชิกเข้าธรรมกายก็รู้ได้ทันทีและมาชักชวนไปเข้าธรรมกายแต่ลูกเขาปฏิเสธ....”ผมรู้ทันทีว่าธรรมกายนี่!!เครือข่ายไม่เบาเที่ยวสำรวจเกรดเด็กในมหาวิทยาลัยเพื่อชักชวนเข้าธรรมกายตั้งแต่เด็กๆ เพิ่งเริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทีเดียว”

นอกจากนั้น เขายังรู้จักคุณยายอายุเกือบร้อยปีที่ปฏิบัติธรรมในวัดธรรมกาย จนรู้ใจคนอื่น?และมีตาทิพย์เห็นผีจริงๆที่อาจเหนือกว่า “พระธัมมชโย”ด้วยซ้ำ คุณยายคนนี้ได้รับการสั่งสอนจากพระอีกสายหนึ่งของหลวงปู่สด แต่ซ่อนตัวอยู่อย่างสงบ สมถะ ไม่ฝักฝ่ายอยู่ในวัดธรรมกายพร้อมกับบอกด้วยว่า แม้จะรู้จักธรรมกายอย่างดี แต่เขาก็ไม่เคยพูดว่าวิชชาธรรมกายเป็นวิชชาหลอกลวงเลย

“ผมรู้ว่าในธรรมกายอะไรจริงอะไร?ลวงฉะนั้นจึงไม่ต้องบอกให้ผมเข้าไปที่วัดปทุมธานี เพื่อนผมที่หลงใหลการจัดฉากทุกวันนี้ก็ยังนั่งรถไปวัดธรรมกาย ผมรู้ว่าสิ่งที่เขาติดอยู่นั้นคืออะไร? ความสุขที่ยังมีอามิส มันเกิดขึ้นกับผู้คน เพราะกิจกรรมทางศาสนานั้นเป็นกิจกรรมแห่งกุศล”เขาย้ำ

อย่างไรก็ตามแม้กิจการแห่งกุศลนั้นจะมีปนอยู่ด้วยอามิสแห่งความปรารถนา มันก็ไม่ได้ทำให้คดีอาญาของพระธัมมชโยกลายเป็นความถูกต้องของพระธรรมวินัยได้ และสงฆ์นั้นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมือง มิใช่ต่อต้านกฎหมายสงฆ์นั้นต้องยอมตายด้วยอาพาธ อย่างชายชาติอาชาไนย มิใช่หลบอยู่ด้วยความกลัว และพวกเราชาวพุทธไม่ต้องกลัวที่จะพลีชีวิตเพื่อรักษาธรรม

“พระธัมมชโยไม่เคยว่าใคร-ด่าใครต่อหน้าหรือลับหลังเพราะไม่มีเป้าหมายสำคัญที่ตรงนั้น แต่ใช่หมายความว่าความไม่พอใจของเขาจะไม่มี เขามี และมีวิธีการของเขาเป้าหมายของเขา คือต้องการให้ชาวพุทธทั่วโลก รวมทั้งนิกายต่างๆ มาสยบขึ้นตรงกับธรรมกายให้ธรรมกายเป็นนิกายศูนย์รวมของชาวพุทธทั่วโลก....”

เพราะต้องการความยิ่งใหญ่ แบบนโปเลียนฮิตเลอร์และผู้นำศาสนาแห่งโลก กล่าวคือ ต้องการความเหนือกว่าเทพเจ้าเสียอีกฉะนั้นจึงไม่แคร์สิ่งที่เขาทำและอวดอ้างอุตริมนุสธรรม รวมทั้งไม่แคร์ศีลธรรมและพระวินัย “....เขารู้- เขาเห็นว่า ภายในวัดทำอะไร?ที่ผิดพระวินัยเขาทำเสมือนเรื่องเล็กน้อยและปลุกเร้าจิตใจให้ศานุศิษย์เสียสละว่าสำคัญในการสร้างบารมี”

วันนี้ พระธัมมชโยมาได้ครึ่งทางกว่าๆ ของเป้าหมายที่ต้องการแล้ว และอายุก็ผ่าน 70 ไปแล้ว แต่เขาก็มาสะดุดลงอย่างแรง ด้วยเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

**หมายเหตุ : พระสัทธรรมปฏิรูป คืออะไร? อันนี้หมายถึงการบิดเบือนแนวคิดใหม่ลงไปในคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่นการรวมศาสนา หรือตั้งตนเป็นศาสดา หรือนิกายลัทธิ ใหม่ภายใต้ พระพุทธศาสนา โดยใช้หลักคำสอนผสมผสานกับแนวคิดของตนเองก่อเกิดปฏิรูป เป็นแบบแผนใหม่หรืออาจจะปฏิวัติหลักคำสอนใหม่ โดยคำสอนนั้นเป็นไปเพื่อ ลาภ สักการะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560