“เคหะสุขประชา” ติดอาวุธทางปัญญา สร้างงาน-รายได้ กลุ่มเปราะบาง

04 มิ.ย. 2565 | 08:35 น.

“เคหะสุขประชา” ชื่อนี้อาจจะยังไม่คุ้นหูคนไทยนัก แต่อีกไม่นานเชื่อว่า ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะในระดับรากหญ้า กลุ่มผู้เปราะบาง รายได้น้อย จะได้รู้จักเป็นอย่างดี จากแนวนโยบายที่ดีของภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมให้คนไทย มีที่อยู่อาศัย และมีอาชีพทำกินอย่างยั่งยืน

ซึ่งขณะนี้ มีคนหนุ่มไฟแรง ที่มาพร้อมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง “ดร.ตวงอัฐ ชัยกิจโกสีย์” ประธานเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสุขประชา มานั่งทำหน้าที่ติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ


เริ่มต้นอาจจะฟังดูง่าย กับการสร้างบ้านเช่าราคาถูก ให้กับคนไทยผู้มีรายได้น้อยได้อยู่อาศัย แต่เมื่อเติมเงื่อนไข การสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ผู้อยู่อาศัยเหล่านั้นต้องเลี้ยงตัวรอดอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสังคมไทยคุณภาพดีในอนาคต เรื่องง่ายๆ ก็กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที 

เป้าประสงค์ของ โครงการบ้านเคหะสุขประชา ภายใต้บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้นโดย การเคหะแห่งชาติ 49% และเอกชนมืออาชีพอีก 51% คือการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดำเนินการเศรษฐกิจชุมชนแบบคู่ขนาน เป็น “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” ที่ผู้อยู่อาศัยต้องพร้อมเรียนรู้และสร้างอาชีพให้กับตัวเอง...ตรงนี้แหละที่ “ดร.ตวงอัฐ” บอกว่าคือความท้าทายอย่างมาก

 

“มันเป็นความท้าทาย มันมีความยาก เขาทำกันทั่วประเทศ กับการพยายามพัฒนาอาชีพให้กับคนในชุมชน มีการนำความรู้ด้านการเกษตร นำเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ลงไปสู่ภูมิภาคระดับชุมชน แต่มันไม่ซัคเซส...เพราะอะไร” 

หน้าที่ของผู้บริหารท่านนี้ คือ 1. ติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้อยู่อาศัยในโครงการ ด้วยความรู้ที่มีความหลากหลายทางอาชีพให้มากที่สุด เพราะตอนนี้รู้อย่างเดียวไม่ได้ และ 2. สร้าง FINANCIAL DISCIPLINE หรือวินัยทางการเงิน ซึ่งทั้งหมดทำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทำให้เขารอดจากวังวนเดิมๆ 


 การจะสร้างอาชีพอะไร หรือแบบไหน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการของแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย 6 อาชีพ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ ปศุสัตว์ อาชีพบริการชุมชนและชุมชนข้างเคียง ตลาด อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และศูนย์การค้าปลีก-ส่ง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนตามภูมิสังคมของพื้นที่นั้นๆ เริ่มตั้งแต่การผลิตไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งหนึ่งโครงการตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นคือ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า ที่มีการจัดเตรียมพื้นที่ “เศรษฐกิจสุขประชา” ในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ หรือมินิ มอลล์ เพื่อรองรับการจ้างงานและสร้างอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน 


 ส่วนวิธีการที่จะทำให้ ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ตามเป้าหมาย ขณะนี้ “ดร.ตวงอัฐ” และทีมงาน ได้เตรียมความพร้อม ตั้งแต่ “ผู้เชี่ยวชาญทุกอาชีพ” ที่เป็นตัวจริง และสร้างเครือข่าย หาพาร์ทเนอร์ ปราชญ์ชาวบ้านทั้งใหม่และเก่า เทคโนโลยี ที่จะทำให้ชาวบ้านนำไปใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์ อีกส่วนหนึ่งที่เตรียมคือ การเชื่อมต่อกับนักธุรกิจ นักบริหาร เพื่อเข้าไปช่วยยกระดับชาวบ้านจริงๆ โดยอาจจะเข้ามาร่วมในรูปแบบซีเอสอาร์ 


การผสมผสานระหว่างกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่ต้องพร้อมเรียนรู้ ให้เชื่อมต่อกับทีมงาน และพาร์ทเนอร์ต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วย ทุกอย่างต้องมีจังหวะ และเวลาที่เหมาะสม ต้องบาลานซ์ทุกอย่างให้ลงตัวด้วยศาสตร์และศิลป์


ความยาก คือ ศิลป์ เข้าในจังหวะไหน รูปแบบไหน เขาถึงจะไม่รีเจ็คเรา...วิธีการ เหมือนการทำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ต้องไป  Empathize-เข้าใจปัญหาของเขา...ทำให้เขาพร้อม ล้างภาพเดิม ที่มาแค่เก็บข้อมูล หรือมาเพื่อสร้างภาพ ทำให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้
เกิดผลจริง ภายใต้คอนเซ็ปท์ Walk to Work 


“ผลลัพธ์ที่ได้ ถ้าคุณจะเรียนรู้เพื่อเป็นลูกจ้าง ต้องเป็นลูกจ้างมืออาชีพ หรือถ้าเป็นผู้ประกอบการ หรือเอสเอ็มอี คุณต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนที่เก่ง สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่จะแฝงเข้าไปในการอบรม”
 

จากประสบการณ์ในองค์กรเอกชนทางเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 10 ปี และการใช้ชีวิตภายในครอบครัวแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด “ดร.ตวงอัฐ” หนึ่งฟันเฟืองของโครงการ ตกผลึกความคิด นำประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือสำคัญ พัฒนาเป้าหมายของ “เคหะสุขประชา” ให้เกิดขึ้นและเป็นจริง แม้จะยากแต่ก็สนุก และพร้อมลุยอย่างเต็มที่ 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,788 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2565