ทรัมป์ 2.0 จีนเตรียมรับมือ เล็งปรับกลยุทธ์มาตรการกีดกันการค้า

29 พ.ย. 2567 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 09:44 น.

สนง.ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองชิงต่าว เผย ผลกระทบจากการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความท้าทายให้กับวิสาหกิจจีนอีกครั้ง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และการค้าระหว่างประเทศ จีนเตรียมรับมือปรับกลยุทธ์มาตรการกีดกันการค้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่สอง ส่งผลให้วิสาหกิจจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนอีกครั้ง นโยบายปกป้องทางการค้าของรัฐบาลทรัมป์และจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศและตลาดภายในประเทศ 

ทั้งนี้ วิสาหกิจจีนจึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในการรับมือหลายด้านเพื่อลดแรงกดดันจากภายนอกและรักษาเสถียรภาพในการเติบโตของธุรกิจ นักวิเคราะห์และสถาบันวิจัยต่างๆ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะการรับมือจากสงครามการค้าที่จะปะทุขึ้นอีกรอบนี้อย่างไร

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ เผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น การวิเคราะห์ของ Global Zero Carbon Research Center ให้ความเห็นว่าการกลับมาของทรัมป์จะทำลายนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม Green First ของไบเดน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ และนำความไม่แน่นอนมาสู่อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของจีน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม และโซลาร์เซลล์ ที่จีนมุ่งใช้เป็นตัวขับเคลื่อนตัวเลขเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ขณะที่ การส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของจีนไปยังสหรัฐฯมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงและคาดว่าจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง อีกทั้งสัดส่วนการส่งออกโซลาร์เซลล์และรถยนต์ไฟฟ้านั้นต่ำมาก จึงคาดว่าผลกระทบจากการมาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับมาตรการ 201 และ 301 ที่ใช้สอบสวนการทุ่มตลาดและการใช้ฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าได้รับผลกระทบมากกว่า อัตราภาษีต่อต้านการอุดหนุนเบื้องต้นอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าจะมีการประกาศการต่อต้านการทุ่มตลาดในสิ้นเดือนพฤศจิกายน (อัตราภาษีคาดว่าจะอยู่ที่ 70% – 270%) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น

นอกจากนี้ ห่วงโซ่อุปทานโซลาร์เซลล์ และการกักเก็บพลังงานของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่พึ่งพาจีนมากกว่า เมื่อเทียบกับการขึ้นภาษีแล้ว ผลกระทบจากเงินอุดหนุนพระราชบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มากกว่าภาษีศุลกากร หากทรัมป์เข้ารับตำแหน่งและยกเลิกพระราชบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อ เงินอุดหนุน ITC (Investment Tax Credit) สำหรับโรงงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์อาจเสี่ยงที่จะถูกยกเลิก ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์ปลายทาง 

ปัจจุบัน เงินอุดหนุน ICT อยู่ที่ 30%-70% ของการลงทุนเริ่มต้นและเครดิตภาษีจะได้รับคืนทุกปีในช่วงการดำเนินกิจการ ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นโมดูล ปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งที่ออกไปขยายกิจการในต่างประเทศและได้รับเครดิตภาษี IRA ซึ่งหากเงินอุดหนุนถูกยกเลิกจะส่งผลกระทบต่อกำไรของโรงงานในท้องถิ่น 

ทั้งนี้ การยกเลิก IRA จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ปลายทางในสหรัฐฯ กำลังการผลิต อาทิ แบตเตอรี่และชิ้นส่วนในท้องถิ่น จะมีผลกระทบอย่างมาก อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของ Global Zero Carbon Research Center เห็นว่า แม้ว่าทรัมป์จะขึ้นสู่อำนาจ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยกเลิกนโยบายเงินอุดหนุนพลังงานสีเขียวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใดๆจะต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสและสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรครีพับลิกัน

 ขณะที่ อุตสาหกรรมยา สัดส่วนธุรกิจไม่สูงและผลกระทบมีจำกัด เมื่อเร็วๆ นี้ นักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจกับการขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ต่อผลกระทบของการแพทย์แผนจีน นักวิเคราะห์จากบริษัท UBS แสดงความเห็นว่า ในข้อพิพาททางการค้ารอบสุดท้าย สหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ของจีน แต่โดยรวมแล้วผลกระทบของภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อบริษัทอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นไม่มีนัยสำคัญ นักวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจีนอาจแนะนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติ่มเพื่อป้องกันนโยบายภาษีของรัฐบาลทรัมป์ เพื่อการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งให้กับภาคส่วนย่อยที่มุ่งเน้นอุปสงค์ภายในประเทศและเน้นการบริโภค เช่น โรงพยาบาลทันตกรรม โรงพยาบาลจักษุ และโรงพยาบาลเฉพาะทางอื่นๆ อาจได้ประโยชน์

จากติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างใกล้ชิด ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะคงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนต่อไป บริษัทจีนจึงจำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อปรับกลยุทธ์การตลาดและการส่งออกอย่างทันท่วงที หากทรัมป์เรียกเก็บภาษีสูงสำหรับสินค้าของจีน โดยเวียดนามเป็นที่น่าจับตามองในการตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคด้านภาษี ในขณะเดียวกันก็มองหาการขยายตลาดส่งออกใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยง

 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้การกลับมาของทรัมป์ทำให้ภาครัฐและเอกชนจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจีนได้มีการตั้งรับ ปรับตัว และมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับโอกาสทางการค้าและความต้องการสินค้าไทย ดังนี้

  • จีนจำเป็นต้องเพิ่มห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการพึ่งพาตลาดเดียว หันมาหาตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสินค้าของไทย อาทิ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ เชื้อเพลิง เครื่องจักรเครื่องกล อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ การตรวจสอบ การแพทย์ ทองแดง เมล็ดพืชน้ำมัน ยานพาหนะและชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริม พลาสติก เป็นต้น

 

  • บริษัทจีนอาจพิจารณาตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง รถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งไทยยังเป็นฐานห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สำคัญของการผลิตรถยนต์ แหล่งผลิตยางพาราธรรมชาติที่สำคัญของโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมซอฟแวร์ของไทยที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการดึงดูดการลงทุนจากจีนในการตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ

 

  • อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรมสมัยใหม่เชิงลึก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยบนเวทีโลก

 

  • แน่นอนว่าหากเลือกที่จะขยายโอกาสกับฝั่งจีนแล้ว ก็อาจจะมีความเสี่ยงจากการถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ มากขึ้นด้วย ไทยจึงอาจต้องประเมินความเสี่ยงและใช้มาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเสี่ยงและรับมือได้อย่างทันท่วงที