ซีพีเอฟ ตอกยํ้าไม่ใช่ต้นตอ “ปลาหมอคางดำ” ยันทุกอย่างโปร่งใส

17 ส.ค. 2567 | 06:33 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2567 | 06:34 น.

“ซีพีเอฟ”ย้ำนำเข้าลูกปลาหมอคางดำตามขั้นตอน และยุติการวิจัยนำส่งตัวอย่างลูกปลาแก่กรมประมงไว้เป็นหลักฐาน ยันไม่มีเล็ดลอดสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ตั้งคำถามไทยส่งออกปลา 3 แสนตัว ไป 17 ประเทศ นำมาจากไหน ขอให้ตรวจสอบ ระบุปลาหมอบัตเตอร์ ห้ามนำเข้า เหตุใดจึงมีการระบาดในไทย

กรณีปลาหมอคางดำ ที่มีการแพร่ระบาด และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด  (มหาชน) หรือ "ซีพีเอฟ" ได้ตกเป็นจำเลยสังคมว่าเป็นต้นตอของปัญหา และได้มีกลุ่มเอ็นจีโอนำเสนอภาพเท็จและข้อมูลเท็จเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเชิงลบต่อบริษัทตามช่องทางสื่อสาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นภาพประกอบในการเสวนาที่มีการสื่อสารสู่สาธารณะ ทำให้บริษัทเสียหายและสังคมเข้าใจผิด

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวยืนยันว่า บริษัทไม่ใช่ต้นตอการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ และต้องขอปกป้องศักดิ์ศรีของบริษัทที่มีผู้ใช้ภาพเท็จ-ข้อมูลเท็จในการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้สังคมเข้าใจผิด และจะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

“ข้อเท็จจริงต้องย้อนไปถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนำเข้าเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลเดิมที่มีอยู่ เป็นที่มาของการขออนุญาตนำเข้าปลาจากประเทศกานา ซึ่งในปีที่ขออนุญาตนั้นเป็นปี 2549 ปลาชนิดนี้ยังไม่มีชื่อภาษาไทย จึงระบุชื่อว่า “ปลานิล” ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sorotherodon melanotheron และชื่อสามัญว่า “BlackchinTilapia”

ขณะที่ผู้รวบรวมปลาในกานา ไม่สามารถรวบรวมปลาให้ได้ 5,000 ตัวภายในปี 2549 จึงทำให้ต้องนำเข้าจริงในปี 2553 ซึ่งได้เพียง 2,000 ตัว และเมื่อลูกปลาขนาด 1 กรัม ได้นำมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ขั้นตอนต่าง ๆ ก็เป็นไปตามที่ได้ชี้แจงไปยังคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.อว.) และคณะอนุกรรมาธิการฯ”

ทั้งนี้เมื่อลูกปลามาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ได้รับการตรวจสภาพ ณ ด่านกักกันสัตว์ พบว่ามีลูกปลาตายจำนวนมากถึงกว่า 70% เนื่องจากลูกปลาขนาดเล็กมาก และเดินทางไกล ส่งผลให้เหลือลูกปลาเพียง 600 ตัวที่มีสภาพอ่อนแอมาก หลังจากนั้นจึงได้นำลูกปลาทั้งหมดไปยังฟาร์มยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม โดยนำลูกปลาที่ยังมีชีวิตปล่อยลงในบ่อซิเมนต์ขนาดความจุนํ้า 8 ตันในระบบปิด กระบวนการนี้เป็นช่วงเวลาของการกักกันโรค (Quarantine) ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ

 

ซีพีเอฟ ตอกยํ้าไม่ใช่ต้นตอ “ปลาหมอคางดำ” ยันทุกอย่างโปร่งใส

ดังนั้น คำกล่าวอ้างที่ว่าฟาร์มยี่สารมีแต่บ่อดินและเลี้ยงปลาหมอคางดำในบ่อดินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553-2560 จึงเป็นข้อความเท็จและบิดเบือน เนื่องจากลูกปลาในบ่อกักกัน ทยอยตายลงทุกวันนับตั้งแต่วันที่นำเข้ามา (กราฟิกประกอบ) ทำให้ขั้นตอนตามแผนงานวิจัยจึงต้องล้มเลิก เนื่องจากตัวอย่างประชากรปลาไม่เพียงพอสำหรับการวิจัย โดยนักวิจัยของบริษัทได้ขออนุญาตทำลายลูกปลาและยุติโครงการ จากนั้นได้แจ้งกรมประมงและนำซากปลาส่งให้เจ้าหน้าที่กรมประมง ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำเข้าของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ (IBC) เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้แจ้งผลการทดลองต่อกรมประมง เนื่องจากลูกปลาเสียหายทั้งหมดในขณะกักกันเพียง 16 วัน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายการวิจัยและบริษัทไม่ประสงค์ทำการศึกษาต่อ จึงทำลายปลาชุดดังกล่าวทั้งหมดและแจ้งเจ้าหน้าที่กรมประมงในวันที่ 6 มกราคม 2554

 

“การพัฒนาพันธุ์ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลวิจัยจะเป็นอย่างไร เพียงแต่ในวันนั้นมีไอเดียเมื่อปี 2548-2549 ว่าจะพัฒนาปลานิลซึ่งมีปัญหาในบางจุดจึงนำเอาปลานิลสายพันธุ์อื่นที่มีความหลากหลายเข้ามา หลักคิดก็มีเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้นำเข้าในทันทีเมื่อปี 2549 เพราะปลายทางไม่สามารถหาพันธุ์ปลาให้ได้จึงนำเข้าในปี 2553 ซึ่งจำนวนไม่ได้ตามเป้า เหลือแค่ 2,000 ตัว และเสียหายทั้งหมด จากปลาไม่แข็งแรง”

ซีพีเอฟ ตอกยํ้าไม่ใช่ต้นตอ “ปลาหมอคางดำ” ยันทุกอย่างโปร่งใส

โดยการนำเข้าลูกปลาจากกานา ได้ถูกบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก ที่มีการอัดเอาออกซิเจนเข้าไป และมีการเดินทางมากกว่า 35 ชั่วโมง ทำให้เหลือจำนวนปลาไม่เพียงพอกับการวิจัยและต้องยุติโครงการไปในที่สุด ส่วนเรื่องปลาที่ส่งออก จำนวน 3 แสนตัว ใน 17 ประเทศของ 11 บริษัทในช่วงปี 2556-2559 ไม่แน่ใจว่ามีกระบวนการนำเข้ามาได้อย่างไร บริษัทไม่สามารถทราบได้ จึงขอให้มีการตรวจสอบ และขอความยุติธรรมให้กับทางบริษัทด้วย

ซีพีเอฟ ตอกยํ้าไม่ใช่ต้นตอ “ปลาหมอคางดำ” ยันทุกอย่างโปร่งใส

นายประสิทธิ์ กล่าวยืนยันอีกว่า บริษัทไม่ใช่ต้นตอการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ และต้องขอปกป้องศักดิ์ศรีของบริษัทที่มีผู้ใช้ภาพเท็จ-ข้อมูลเท็จในการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้สังคมเข้าใจผิด และจะดำเนินการตามผขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป จาก 6 ประเด็นโดยสรุปคือ

1.บริษัทยังไม่ได้เริ่มทำการวิจัยเนื่องจากลูกปลาเสียหายทั้งหมดในขั้นตอนกักกันโรค ระยะเวลาเพียง 16 วัน 2.บริษัทได้ดำเนินการตามเงื่อนไขการขอนำเข้าตามหลักมาตรฐาน 3.มีการใช้ข้อมูลเท็จผ่านสื่อซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินคดี 4.เหตุใดจึงมีการส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 3 แสนตัวในลักษณะปลาสวยงามที่มีชีวิตไปกว่า 17 ประเทศ ในช่วงปี 2556-2559

บ่อกักกันโรคถังซีเมนต์

รวมทั้งงานวิจัยของกรมประมงในปี 2563 และปี 2565 ที่มีการนำมากล่าวอ้างยังมีข้อสงสัยในหลายข้อ และที่สำคัญปลาหมอบัตเตอร์ เป็นปลาที่ห้ามนำเข้าหรือเพาะเลี้ยง แต่เหตุใดจึงมีการระบาดในประเทศไทย ดังนั้นบทเรียนครั้งนี้สำหรับในโอกาสต่อไปบริษัทจะทำด้วยความรอบคอบมากยิ่งขึ้น