นายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช รองประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายในโครงการอาหารเสริม (นมโรงเรียน) ปีการศึกษา 2567 หรือ “นมโรงเรียน” เป็นนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสิทธิ 50:50 ระหว่างภาคสหกรณ์กับภาคเอกชน มองว่าเป็นโอกาสที่ทำให้องค์กรสหกรณ์เข้มแข็งขึ้น เนื่องจากในภาคสหกรณ์จะมีการส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงโคนมในพื้นที่ มีการรวบรวม มีการแปรรูป ดังนั้นองค์กรสหกรณ์ก็จะสร้างเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน ก็ทำให้ครบวงจร ซึ่งหากภาคสหกรณ์จะไปแข่งขัน ในส่วนของเอกชนที่อาจจะมีหลายโรงงานมีความพร้อมที่เป็นทั้งโรงนมพาสเจอร์ไรส์ และโรงงานยูเอชที ครบวงจร
ส่วนมากที่เป็นโรงสหกรณ์ที่ร่วมในโครงการนมโรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นโรงขนาดเล็ก และไม่โรงใหญ่ไม่กี่แห่ง ส่วนมากจะขายอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นหลักเกณฑ์ใหม่นี้ความจริงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและก็เป็นสิ่งที่ดี มีการแข่งกันในพื้นที่ที่สถานะเท่ากัน ก็คือ สหกรณ์กับสหกรณ์ ส่วนเอกชนก็ไปแย่งพื้นที่ในส่วนของเอกชน ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดเกษตรฯ เป็นผลดี เนื่องจากโครงการนมโรงเรียนเป็นงบประมาณหลวง (1.4 หมื่นล้านบาท โดยรัฐจัดสรรงบประมาณให้ทุกปี) ก็คงไม่ใช่ลักษณะของการประมูล และต้องมาแข่งขัน วนกลับไปสู่ปัญหาเดือดร้อนก็คือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า มีปัญหาเรื่องระยะเวลาในการกำหนดหลักเกณฑ์และทำความเข้าใจการรับสมัคร และการจัดสรรใกล้เวลากับช่วงเด็กเปิดเทอมมากเกินไป ก็จะส่งผลกระทบกับการจัดสรรให้เด็กดื่มนมในช่วงเปิดเทอม แต่คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมทุกอย่างจะเรียบร้อย และถ้าดำเนินแนวทางแบบนี้ต่อไปภาคสหกรณ์หันหน้ามาคุยกัน สร้างบทบาทการเชื่อมโยงเครือข่ายกับพี่ใหญ่ อาทิ สหกรณ์โคนมหนองโพฯ,สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ และสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น เป็นต้น นอกจากนั้นจะมี โรงขนาดกลาง ขนาดเล็ก จะทำให้กลุ่มในภาคสหกรณ์ ภายใต้กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็จะมีความเข้มแข้งขึ้น และก็สามารถดูแลเด็กนักเรียนทั้งประเทศไทย แต่ถ้าเรามาแย่งพื้นที่กันอยู่ โดยไม่รู้จักคำว่า “พอ” โดยเฉพาะปีนี้นมโรงเรียนเองราคากลางก็ยังไม่ปรับ ใครยิ่งขายเยอะ โอกาสขาดทุนก็เยอะ
ส่วน อ.ส.ค. อยู่ในกลุ่มภาคเอกชน และก็ปีนี้ยอมถอยตัวเลขนมโรงเรียนลงมา ก็ต้องขอขอบคุณ ในฐานะพี่ใหญ่ที่ไปสร้างบทบาทนมพาณิชย์ที่เป็นของเกษตรกรไทย เพื่อเตรียมรองรับเอฟทีเอ ปี 2568 ดีกว่ามาแข่งขันกันเองอยู่ในนมโรงเรียนที่มีขีดจำกัดในเรื่องของจำนวนสิทธิ จำนวนเด็กก็มีแต่ลดลง และปริมาณการใช้นมก็ลดลง และยิ่งในปี 2568 โอกาสเติบโตของนมพาณิชย์ด้านการน้ำนมดิบคาดว่าจะลดลง เพราะว่าผู้ประกอบการจะใช้นมผงในผลิตภัณฑ์มากขึ้นก็ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์น้ำนมดิบก็น้อยลง แล้วอำนาจการต่อรองการผูกน้ำนมดิบกับโควตานมผง ตามพันธกรณีตามความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และ ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA จะหมดอำนาจการต่อรอง
"เมื่อเปิดเสรีนมผง บทบาทน้ำนมดิบเพื่อนมพาณิชย์น่าจะน้อยลง และที่สำคัญนมโรงเรียนก็ยิ่งน้อยลง ดังนั้นถ้ามาคุยกัน และแยกผลิตภัณฑ์ระหว่างนมสดกับนมผง ให้ผู้บริโภคทราบโดยอาศัยนมโรงเรียนเป็นแนวร่วมโดยใช้น้ำนมดิบที่เป็นของเกษตรกรไทยแท้จริงก็จะสามารถสู้กับการเปิดเสรีนมผงในอนาคตได้ ในปี 2568แต่ที่สำคัญก็คือต้องลดต้นทุน และก็สร้างคุณภาพมาตรฐานขึ้นมารองรับ" นายณัฐวุฒิ กล่าวในตอนท้าย
ขณะที่นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าวถึงหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียน ปีการศึกษา 2567 ให้แบ่งสิทธิ เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สหกรณ์ ร้อยละ 50 ของปริมาณสิทธิที่พึงได้ได้รับจัดสรรในกลุ่มพื้นที่การจัดสรรในกลุ่มพื้นที่ให้ใช้วิธีแบบสัดส่วน และส่วนที่ 2 ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นอื่น ร้อยละ 50 ของปริมาณการจัดสรรสิทธิในกลุ่มพื้นที่ ให้ใช้วิธีแบบสัดส่วน ซึ่งการลักษณะการจัดสรรสิทธิได้ตั้งคำถามไว้ดังนี้
1.รูปแบบนี้ทำได้หรือไม่ 2.คำว่า “โลจิสติกส์” ในมติ ครม. ก้าวข้ามไปด้วยหรือเปล่า เพราะวันที่เคยให้คำนิยาม อ้างอิงจากข้อท้วงติงของ ป.ป.ช. ก็คือ ประสิทธิภาพในการขนส่ง และประหยัดงบประมาณ ลดความสูญเสียในเรื่องคุณภาพ แต่วันนี้กลับข้ามโซนกันได้ ใช่หรือไม่ และในมติ ครม. ให้บริหารเรื่องโลจิสติกซ์ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องแบ่งการจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายให้สหกรณ์ครึ่งหนึ่ง ของปริมาณนมโรงเรียนทั้งประเทศ”
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า คำนิยาม ของเกษตรกร ซึ่งทุกวันนี้เกษตรกรขึ้นทะเบียนทั้งหมดแล้ว และซื้อจากเกษตรกร สามารถแบ่งแยกได้ด้วยหรือ สรุปเกษตรกรได้ประโยชน์อะไรจากการจัดสรรพื้นที่จัดจำหน่ายในครั้งนี้ มีแต่จะทำให้เกิดความแตกแยกเพราะมีอีกกลุ่มได้ผลประโยชน์ มีอีกกลุ่มเสียผลประโยชน์ แล้วงบประมาณที่รัฐจัดสรรในครั้งนี้สามารถแบ่งแยกได้ด้วยหรือ
“ที่ผ่านมาส่วนใหญ่สหกรณ์ ถูกลงโทษตัดสิทธิ์น้ำนมไม่ได้คุณภาพ มากกว่าโรงงานเอกชน และวันนี้รัฐบาลกลับนำเอาความเสี่ยงไปให้เด็กนักเรียนหรือ อย่าลืมว่าโครงการนี้วัตถุประสงค์ ก็คือ เกษตรกรกับเด็กนักเรียนต้องได้ประโยชน์อะไรบ้าง วันนี้นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ผ่านมา 6 วันแล้ว เด็กยังไม่ได้ดื่มนมเลย และที่สำคัญได้ดื่มนม ที่คุณภาพลดลง เพราะไปลดเสปคมาตรฐานน้ำนมโค จากปริมาณเนื้อนมรวม (Total Solid) จากไม่น้อยกว่า 12.25 % เป็น ไม่น้อยกว่า 11.45% ซึ่งการไปลดคุณภาพน้ำนมนี้เพื่อรายใดหรือเปล่าที่เคยถูกลงโทษตัดสิทธิ์มาแล้วเพื่อจะได้เข้าร่วมโครงการในปีนี้ได้ ก็ไม่แน่ใจว่าการกระทำแบบเป็นการแข่งขันที่จะเปิดเสรีนมผง ในปี 68 เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบไปไกลแล้ว แต่กลับดึงคุณภาพน้ำนมดิบลงมา ท้ายสุดจะทำให้ประเทศไทยโดนกล่าวว่าทำน้ำนมดิบไม่มีคุณภาพ แล้วในที่สุดก็จะเปิดกว้างให้นำนมต่างประเทศเข้ามา จะทำให้ปัญหาลุกลามบานปลายไปอีก"
ด้านแหล่งข่าวผู้ประกอบการที่เข้าร่วมนมโรงเรียน ปี 2567 กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ชุลมุนวุ่นวายไปหมด ในส่วนทั้งสหกรณ์ และเอกชน แลกเปลี่ยนพื้นที่ มอบสิทธิ และคืนสิทธิ ที่ได้รับการจัดสรรโควตา ชุลมน เช่น สหกรณ์โคนมหนองโพฯ –สหกรณ์โคนม ท่าม่วง และสหกรณ์โคนมชะอำ-ห้วยทราย และ บจก.ธวัชฟาร์ม คืนสิทธิการจำหน่ายพื้นที่นมโรงเรียน ให้กับสหกรณ์โคนมเมืองจันท์ จึงทำให้เด็กนักเรียนทั้งประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดื่มนมในวันแรกของการเปิดเทอม เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบปัญหาแล้ว พร้อมได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ที่ดูแล ในวันพรุ่งนี้ (23 พ.ค.67) เด็กต้องได้ดื่มนมทั้งประเทศ