คุมเข้มชายแดนระนอง สกัดลอบขนยางพาราเถื่อน

21 เม.ย. 2567 | 11:24 น.

พ่อเมืองระนองเอาจริง สั่งการทุกภาคส่วน จับกุมเข้ม ป้องกันการลักลอบนำยางพารานอกจากราชอาณาจักร เข้ามาสำแดงเป็นยางไทย

จากกรณีที่จังหวัดระนองได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรชาวสวนยาง ถึงเรื่องปัญหาการลักลอบขนยางพาราแผ่นและยางพาราก้อน คุณภาพต่ำจากประเทศเมียนมา เข้ามาส่งขายให้กับสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งสหกรณ์ได้ทำการรับซื้อย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากยางพาราที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเมียนมามีราคาถูกครึ่งของราคายางไทย ทำให้ผู้รับซื้อคนกลางแล้วนำไปขายต่อมีกำไรส่วนต่างเป็นมาก อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการไปขอเช่าสมุดเขียวซึ่งเป็นหนังสือสำหรับเกษตรกรที่จะมีโควต้านำยางมาขาย 

โดยในพื้นที่ อ.กระบุรี  มีกลุ่มข้าราชการ ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ได้สั่งให้ลูกน้องออกทำการเช่าหนังสือสมุดเล่มเขียวจากเกษตรกร ในราคาเดือน 1,500 บาท เพื่อนำไปสวมสิทธิที่จะนำยางพาราลักเข้ามาขายตามโควต้า เพราะช่วงนี้ยางไทยปิดหน้ายางไม่สามารถกรีดยางได้ ทำให้ยางพม่าทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดระนอง หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง และอำเภอกระบุรี เข้าตรวจสอบโกดังเก็บยางพาราแผ่นดิบของสหกรณ์การยางในพื้นที่อำเภอกระบุรี หลังจากสืบทราบพบว่ามีกลุ่มที่ลักลอบนำยางจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาสำแดงเป็นยางของประเทศไทยเพื่อจำหน่ายในประเทศโดยผิดกฎหมาย 

คุมเข้มชายแดนระนอง สกัดลอบขนยางพาราเถื่อน

จากการตรวจสอบพบยางพาราบางส่วนผิดกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำชับทางกับสหกรณ์ฯ ให้ตรวจสอบยางพาราที่รับซื้อมา ห้ามมิให้มีการสวมสิทธิหรือทำเอกสารเท็จนำยางจากต่างประเทศมาแอบอ้างเป็นยางในประเทศไทย และให้อำเภอร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง กำชับ ติดตาม ตรวจสอบการสวมสิทธิ์เกษตรกร ในการนำยางมาจำหน่าย อย่างเคร่งครัดต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายนริศ  นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานประชุมชี้แจงแนวทางมาตรการการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตร(ยางพารา)ที่ผิดกฎหมาย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการร้านรับซื้อยางพาราทั้ง 5 อำเภอในจังหวัดระนองเข้าร่วมประชุมชี้แจง

โดยที่ประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงแนวทางมาตรการการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตร(ยางพารา)ที่ผิดกฎหมาย  พร้อมรายงานสถานการณ์การลักลอบนำยางพาราผิดกฏหมายเข้ามาในราชอาณาจักรไทย  และมาตรการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านรับซื้อยางพาราให้จัดทำแบบฟอร์มค้ายาง 5,6,7 และ 8 ส่งภายใน วันที่ 10 ของเดือน

รวมถึงการจัดทำข้อมูลการซื้อขายยางพาราในรูปแบบไฟล์ Excel  และขอความร่วมมือไม่รับซื้อยางพาราที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเมียนมา การไม่รับซื้อยางพาราของผู้ไม่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางพารา การเข้ากลุ่มไลน์ผู้ประกอบการค้ายางพารา และชี้แจงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายยางพาราในตลาดกลาง