“ภูมิธรรม” ถกทูตสวิส เร่งเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้เสร็จปี 67

14 มี.ค. 2567 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 04:17 น.

”ภูมิธรรม เวชยชัย รมว.พาณิชย์“ หารือ เอกอัครราชทูตฯแห่งสมาพันธรัฐสวิส ประจำประเทศไทย เร่งเจรจา FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) พร้อมชวนให้สวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับ นายเปโตร สวาเล็น เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิส ประจำประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ โดยทั้งสองฝ่ายย้ำว่าให้ความสำคัญอย่างมากกับการเจรจา FTA ระหว่างไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ และยินดีที่การเจรจาฯ คืบหน้ามากและใกล้จะสรุปผลได้ คาดว่าภายในปี 2567 นี้ 

“ภูมิธรรม” ถกทูตสวิส เร่งเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้เสร็จปี 67

ซึ่งจะเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป โดยสวิตเซอร์แลนด์ยินดีที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจา FTA ได้สำเร็จตามเป้าหมาย และเป็นประโยชน์กับทั้งไทยและสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศสมาชิก EFTA ในการเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุนระหว่างกัน และรองรับกฎกติกาและระเบียบการค้าโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปและให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล 

อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรและผู้ประกอบการ SME ให้สามารถปรับตัวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือและแลกเปลี่ยนมุมมองถึงแนวทางการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฯ 

นายภูมิธรรม เวชยชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญของไทยฉบับปัจจุบัน หรือฉบับปี 2560 จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดอุปสรรคและข้อจำกัดในการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน  โดยรัฐบาลต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

นานภูมิธรรม เวชยชัย

 และตระหนักว่าอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพร้อมให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง ไม่ว่าทางบก น้ำ ราง และอากาศ จึงเชิญชวนให้สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งประเทศสมาชิก EFTA เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่ EFTA มีความเชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวและมีเสถียรภาพ ซึ่งนักลงทุนจากสวิตเซอร์แลนด์ สามารถใช้ประเทศไทยเป็นประตูเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชียด้วย

ในปี 2566 สวิตเซอร์แลนด์ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในยุโรป การค้ารวม 8,946.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ 3,970.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ 4,975.43    ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้ารวมไทย – EFTA มูลค่า 9,882.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไป EFTA 4,385.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยนำเข้าจาก EFTA 5,497.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ภูมิธรรม” ถกทูตสวิส เร่งเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้เสร็จปี 67

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ และ EFTA เช่น 

  • อัญมณีและเครื่องประดับ 
  • นาฬิกาและส่วนประกอบ 
  • เครื่องใช้สำหรับเดินทาง 
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ 
  • เครื่องสำอาง 
  • สบู่ 
  • ผลิตภัณฑ์รักษาผิว
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก
  • แผงวงจรไฟฟ้า 
  • เหล็ก 
  • เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 
  • เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 
  • รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 

“ภูมิธรรม” ถกทูตสวิส เร่งเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้เสร็จปี 67

สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากสวิตเซอร์แลนด์ และ EFTA เช่น 

  • เครื่องเพชรพลอย อัญมณี 
  • เงินแท่งและทอง
  • นาฬิกาและส่วนประกอบ 
  • ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม 
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 
  • เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ 
  • เครื่องประดับอัญมณี 
  • เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 
  • แผงวงจรไฟฟ้า 
  • เคมีภัณฑ์ 
  • สบู่ 
  • ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง 
  • เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค 
  • ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 
  • สัตว์น้ำ  สด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในปี 2566 นักลงทุนจากประเทศสมาชิก EFTA เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับที่ 14 จากนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมด จำนวน 20 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 2,962 ล้านบาท โดยสวิตเซอร์แลนด์เสนอขอรับการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศสมาชิก EFTA และเป็นอันดับที่ 15 จากนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมด จำนวน 9 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 1,738 ล้านบาท