โวยแบงก์รัฐ ไม่ปล่อยกู้ธุรกิจประมง 5 พันล้าน ฝืนมติ ครม. อ้างอาชีพเสี่ยงสูง

02 ก.พ. 2567 | 09:51 น.

โวยสินเชื่อ 5 พันล้าน ส่อวืด “ประธานสมาคมการประมงฯ” ระบุ 2 แบงก์รัฐเข้มไม่ปล่อยกู้ อ้างอาชีพเสี่ยงสูง สวนมติ ครม. -นโยบายรัฐ ต้องการพลิกฟื้นประมงไทย จับตา 5 ก.พ. "กรมประมง"ชงแก้ราคาสัตว์น้ำตกต่ำ

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) มีมติอนุมัติ "โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เฟส 2"  ภายในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และพื้นบ้าน โดยชาวประมงสามารถกู้เงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี และผู้ประกอบการประมงต้องจ่ายเองร้อยละ 4 ต่อปี มีการกำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 7 ปีนั้น

โวยแบงก์รัฐ ไม่ปล่อยกู้ธุรกิจประมง 5 พันล้าน ฝืนมติ ครม. อ้างอาชีพเสี่ยงสูง

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  จากมติ ครม.ได้มีการแบ่งสินเชื่อประมง ฯ ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. สินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ค่าน้ำมัน ค่าน้ำแข็ง ฯลฯ 2.สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว เพื่อเป็นเงินทุนในการไปปรับปรุงเรือ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์การประมง ซึ่งธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการฯ ภายในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท  โดยมี 2 ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ล่าสุดได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกว่าทางธนาคารมีเงื่อนไขอาจทำให้เป็นอุปสรรค และยากต่อการที่เรือกลุ่มนี้จะได้รับสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการเสริมสภาพคล่องเพื่อปรับปรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำประมง

“ยกตัวอย่าง ธนาคารออมสิน เริ่มอนุมัติให้สินเชื่อ ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 ธนาคารอนุมัติสินเชื่อเพียง 70 ราย จากผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 154 ราย ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อนุมัติ ธนาคารอ้างเหตุผลว่า มีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ และผู้ประกอบการมีคุณสมบัติไม่ครบ ผิดเงื่อนไข เนื่องจากอาชีพประมงเป็นอาชีพเสี่ยง ที่สำคัญต้องผ่านบอร์ดอนุมัติเพื่อให้ความเห็นชอบ เป็นต้น ซึ่งมองว่าสวนทางกับนโยบายรัฐบาลและมติ ครม.ที่จะฟื้นฟูอาชีพประมง”

 

นายมงคล กล่าวอีกว่า สมาคมฯในฐานะตัวแทนองค์กรด้านประมง 22 จังหวัด อยากจะฝากถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังช่วยพิจารณาอนุเคราะห์ผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการประมงสามารถได้รับสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการเสริมสภาพคล่อง ตามนโยบายรัฐบาล ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการก็ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนในระบบไปพลิกฟื้นอาชีพได้ และจำต้องเลิกอาชีพไปในที่สุด

 

โวยแบงก์รัฐ ไม่ปล่อยกู้ธุรกิจประมง 5 พันล้าน ฝืนมติ ครม. อ้างอาชีพเสี่ยงสูง

อย่างไรก็ดี เวลานี้ชาวประมงยังต้องเผชิญกับราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 นายบัญชา สุขแก้ว  อธิบดีกรมประมง ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ อาทิ ปลาหมึก ,ซูริมิ และปลากะพงขาว ที่มีสินค้าสัตว์น้ำราคาถูกจากเพื่อนบ้านเข้ามาตีตลาดไทย จากผู้ประกอบการไทยสู้ไม่ได้เนื่องจากมีปัจจัยการผลิตที่แพงกว่า หากไม่แก้ไข ณ วันนี้อาจถึงกาลล่มสลายของผู้เลี้ยงปลาไทย  และประมงไทย โดยจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งต้องติดตามผลสรุปว่ากรมประมงจะมีวิธีการหาทางออกอย่างไร และไม่ขัดกับกฎเกณฑ์และเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก ( WTO)

 

 

เปิดหนังสือแต่งตั้ง "คณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ"

 

โวยแบงก์รัฐ ไม่ปล่อยกู้ธุรกิจประมง 5 พันล้าน ฝืนมติ ครม. อ้างอาชีพเสี่ยงสูง

 

โวยแบงก์รัฐ ไม่ปล่อยกู้ธุรกิจประมง 5 พันล้าน ฝืนมติ ครม. อ้างอาชีพเสี่ยงสูง