หอการค้าฯ ไม่กังวลดอกเบี้ย 2.50% ค่าแรง 400 ขอไม่เท่ากันทั้งประเทศ

07 ต.ค. 2566 | 10:21 น.

จากที่รัฐบาลชุดใหม่ได้เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ และมีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 และได้เร่งดำเนินมาตรการ /โครงการ กระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องลดค่าครองชีพเป็นลำดับแรก

โดยมาตรการที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร  ขณะที่เตรียมปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท เตรียมแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เตรียมพักหนี้เอสเอ็มอี  เตรียมปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า รฟม.-กทม.เหลือ 20 บาทตลอดสาย เป็นต้น

“ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์ นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึง 1 เดือนของการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ในมุมมองผู้นำภาคเอกชนว่าเป็นอย่างไรบ้าง

นายสนั่น กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลใน 1 เดือนที่ผ่านมา ถือว่ารัฐบาลทำงานเชิงรุกได้ดี โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน จากมาตรการลดค่าครองชีพ และต้นทุนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทันที ทั้งค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่าง ยกเว้น Visa แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน

ขณะที่ภาพการสื่อสารระหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการต่างประเทศมาก ในช่วงที่เดินทางไปประชุม UNGA และได้พบปะเจรจากับภาคธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ภาคเอกชนมองว่าการเยือนในครั้งดังกล่าวประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และต้องชื่นชมบทบาทของรัฐบาลที่พยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยให้มากที่สุด ซึ่งเอกชนหวังว่าในระยะต่อไปจะเกิดการลงทุนจริงอย่างเป็นรูปธรรม

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ถาม : นโยบาย / มาตรการใดที่ภาคธุรกิจพอใจมากที่สุดในช่วงเดือนแรกของการบริหารงานของรัฐบาล เพราะอะไร

มาตรการลดค่าครองชีพและต้นทุนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ วันนี้เราเห็นแล้วว่าในระยะสั้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากเดิม 4.45 บาท เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย รวมถึงการลดค่าน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ถือเป็นนโยบายที่ตรงใจและสอดคล้องกับข้อเสนอเร่งด่วนของภาคเอกชน

ส่วนนี้ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่เห็นความสำคัญ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ภาคเอกชนจะสามารถลดต้นทุนและแข่งขันได้ ส่วนในระยะยาวการให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างพลังงานให้มีความเหมาะสม นอกจากจะทำให้ราคาไฟฟ้าลดลงซึ่งจะช่วยเอื้อและสนับสนุนให้เอกชนมีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันกับคู่แข่งได้แล้ว ยังจะเป็นการดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างชาติให้เข้ามายังไทยมากขึ้นด้วย

ถาม : มาตรการวีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน-คาซัคสถาน คาดจะทำให้ในปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้าไทย 28-30 ล้านคนได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และควรมีมาตรการเพิ่มเติมอะไรอีกบ้าง

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งข้อเสนอของภาคเอกชนที่รัฐบาลขานรับอย่างทันที การออกมาตรการ ยกเว้น Visa แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน น่าจะช่วยกระตุ้นให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีนี้ขยับขึ้นไปแตะที่ 28-30 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ผ่านสัญญาณการจองเที่ยวบินและห้องพักที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ส่วนในระยะยาวรัฐบาลควรยกระดับ e-VISA ในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ดีขึ้น

ถาม : มุมมองมาตรการพักหนี้เกษตรกรทั่วประเทศ

ประเทศไทยเคยใช้นโยบายพักหนี้เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องถึง 13 ครั้ง และหากนับรวมครั้งนี้ก็จะเป็นครั้งที่ 14 ซึ่งจากมติ ครม. มาตรการในการพักหนี้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้รายย่อยของ ธ.ก.ส. มีหนี้สูงสุดไม่เกินรายละ 3 แสนบาท เป็นเวลา 3 ปี รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี โดยใช้งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 1.1 หมื่นล้านบาท จำนวน 2.69 ล้านราย รวมเงินต้นคงเป็นหนี้ทั้งหมด 2.8 แสนล้านบาท

แน่นอนในมุมของการเพิ่มกำลังซื้อและทำให้เกษตรกรลดภาระหนี้สินและสร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพได้โดยมีภาระหนี้ที่ลดลงถือเป็นแนวคิดที่ดี

แต่อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ มองว่ามาตรการดังกล่าวจะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการหรือแนวทางเสริมที่จะให้ให้เกษตรกรที่ลงทะเบียนพักชำระหนี้สามารถยกระดับผลิตภาพการผลิตให้มากขึ้น สามารถเข้าถึงปัจจัยการเพาะปลูกที่เหมาะสมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ แหล่งเงินทุนเพิ่มเติม

การช่วยลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าปุ๋ย รวมถึงการหาตลาดรองรับผลผลิตเพื่อรับประกันรายได้ของเกษตรว่าจะมีเพิ่มสูงขึ้นภายใต้การให้ความรู้เรื่องวินัยทางการเงิน เพื่อให้เกษตรกรมีความความสามารถในการชำระหนี้และไม่กลับมาก่อหนี้เพิ่มเติม ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่อยากเห็นรัฐบาลมีแนวทางออกมาควบคู่กันอย่างชัดเจน

และอีกประเด็นที่หอการค้าไทยเป็นห่วงคือ เรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการท้องเที่ยวให้ลดภาระระยะยาวของประเทศได้ โดยไม่ต้องอาศัยเงินช่วยเหลือทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ทุกปี ซึ่งหากรัฐบาลนี้จัดการลงทุนแก้ไขทันทีได้ นอกจากแก้ปัญหาแล้ว จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของการจ้างงานและการลงทุนในแต่ละพื้นที่ด้วย

ถาม : กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการเตรียมการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน คาดจะได้ข้อสรุปในเดือนพฤศจิกายนนี้  ในส่วนของภาคเอกชนมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง และการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจในเวลานี้หรือไม่ อย่างไร

หอการค้าฯ มีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ ไม่ควรขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ เนื่องจากบริบทและศักยภาพของแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน (มาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งได้กำหนดปัจจัยในการพิจารณาการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาทิ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ฯลฯ) และควรต้องใช้กลไกของคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้กำหนดแนวทางและความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด ควบคู่ไปพร้อมกันด้วย

นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยถ้าเศรษฐกิจดี การจับจ่ายใช้สอยก็จะดี การขึ้นค่าแรงก็จะตามมา ซึ่งเอกชนก็พร้อมที่จะรับมือและจะพยายามตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน ขณะเดียวกันรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดึงมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและเพิ่มความสามารถในการผลิตและการแข่งขัน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้า การลงทุน เพื่อขยายตลาดในการเติบโตของภาคธุรกิจไทยให้มากยิ่งขึ้น

ถาม : คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี มองว่ามีความเหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของประเทศ ณ ปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร

การที่ กนง. มีมติ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.50% หอการค้าฯ ยังไม่มีความกังวลในประเด็นดังกล่าว เพราะไทยถือว่ามีอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เชื่อว่าการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ กนง.ให้ความสำคัญกับกับประเด็นการไหลออกของเงินในช่วงนี้ที่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วซึ่งไม่เป็นผลดี ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยแก้ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนส่วนหนึ่ง รวมทั้งทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศไม่ห่างกันมากนัก

ถาม : ผลพวงที่รัฐบาลได้เดินหน้าเร่งดำเนินการแล้วในโครงการ / มาตรการข้างต้น คาดในปีนี้จีดีพีของไทยจะขยายตัวได้กี่เปอร์เซ็นต์

นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน เกษตรกร รวมถึงการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการว่า หากรวมทั้ง 3 มาตรการเร่งด่วน คือ การลดค่าไฟฟ้า ลงเหลือ 3.99 บาท/หน่วย, การปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาท/ลิตร และการพักชำระหนี้ให้เกษตรกร 2.7 ล้านราย รวมยอดหนี้ 2.83 แสนล้านบาทนั้น ทั้ง 3 มาตรการนี้ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ช่วยประหยัดรายจ่ายลงไปได้รวมแล้วประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท

โดยเฉพาะมาตรการลดค่าไฟฟ้า ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนลงได้มากถึง 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากมาตรการลดค่าครองชีพทั้ง 3 ส่วนดังกล่าว จะทำให้เม็ดเงินในส่วนนี้ สามารถผันกลับมาเป็นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น มีผลต่อมูลค่า GDP ราว 7.2 หมื่นล้านบาท บวกกับมาตรการยกเว้นวีซ่าชั่วคราว สำหรับผู้ที่เดินทางจากประเทศจีนและคาซัคสถานที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 ถึง 29 ก.พ. 2567

ประเมินว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประมาณ 1 ล้านคน (โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะมีการใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 5 หมื่นบาท/คน/ทริป) ซึ่งจะช่วยให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมทันที โดยกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพิ่มเติมอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

รวมถึงการส่งออกของไทย 4 เดือน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นบวกในช่วงนี้ทำให้ทั้งปีนี้ส่งออกทั้งปีนี้ ตัวเลขมีโอกาสกลับมาใกล้เคียงปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จากนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาในระยะแรกภายใต้รัฐบาลเศรษฐา หอการค้าฯ ประเมินว่าน่าจะทำให้เสริม GDP เพิ่มขึ้นได้อย่างน้อย 0.6 – 0.8% และมั่นใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ถึง 3%