2.9 ล้านราย ลุ้นรับอานิสงส์ รัฐบาลใหม่เปลี่ยนที่ ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน

17 ก.ย. 2566 | 06:05 น.

เกษตรกร 2.9 ล้านราย ลุ้นรัฐบาลเปลี่ยนที่ ส.ป.ก. กว่า 36 ล้านไร่เป็นโฉนดที่ดิน "อุบลศักดิ์" นัดเกษตรกรชงร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. ใช้ประโยชน์สูงสุด สร้างรายได้เกษตรกรเพิ่ม ควบตั้งกระทรวงการข้าว เลขาส.ป.ก. ลั่นพร้อมสนองนโยบาย หนุนเกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน ลดกู้นอกระบบ

ในอดีตเกษตรกรไทยประสบปัญหาไร้ที่ดินทำกินมายาวนาน และทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลในสมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้จัดตั้งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ขึ้น เพื่อนำที่ดินของรัฐ และจัดซื้อที่ดินของเอกชน มาจัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518

2.9 ล้านราย ลุ้นรับอานิสงส์ รัฐบาลใหม่เปลี่ยนที่ ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน

ผ่านมา 48 ปี กฎหมายมีความล้าสมัย มีข้อจำกัด และบางส่วนไม่เหมาะสมในการประกอบอาชีพของเกษตรกรในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จึงเป็นที่มาของการผลักดันการเปลี่ยนที่ ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดที่ดินของรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคเกษตรให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถพัฒนาที่ดินของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงมีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หรือเป็นปลายทางหลักของการปฏิรูปที่ดิน

 

2.9 ล้านราย ลุ้นรับอานิสงส์ รัฐบาลใหม่เปลี่ยนที่ ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน


นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรฯ จะมีการจัดประชุมประธานคณะกรรมการกลุ่มระดับจังหวัดในวันที่ 14-15 กันยายน 2566 เพื่อพิจารณาแผนแม่บทคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย การจัดตั้งกระทรวงการข้าว และร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ. .... เพื่อพิจารณาในที่ประชุม ซึ่งหลังจากผ่านการพิจารณาแล้วจะมอบหมายให้แต่ละจังหวัดส่งให้เกษตรกรทั่วประเทศลงรายชื่อแก้กฎหมายฉบับเกษตรกร ไม่ตํ่ากว่า 5 หมื่นคน เพื่อเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. หรือ ส.ป.ก. 4 -01  ให้เป็นโฉนดโดยเร็วที่สุด

2.9 ล้านราย ลุ้นรับอานิสงส์ รัฐบาลใหม่เปลี่ยนที่ ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน


“ที่มาของการแก้ไข เพราะกฎหมายเดิมมีข้อจำกัด ไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีข้อจำกัดในการแบ่งแยก และโอนสิทธิ ยกเว้นการตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทายาท ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสิทธิไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันหรือขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการประกอบเกษตรกรรม หรือใช้ในการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดหาที่ดิน การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน การโอนสิทธิในที่ดิน และมาตรการป้องกันการครอบครองที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบ”
 

2.9 ล้านราย ลุ้นรับอานิสงส์ รัฐบาลใหม่เปลี่ยนที่ ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน


ทั้งนี้ร่างกฎหมายมีทั้งหมด 4 หมวด 74 มาตรา ที่พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตร และรักษาพื้นที่เกษตรกรรมไว้ให้เป็นฐานการผลิตเกษตรกรรมที่มั่นคงของประเทศ เพื่อสนองแนวทางนโยบายรัฐในการลดความเหลื่อมลํ้าในฐานะของบุคคลและสังคมตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ผลการศึกษาการจัดตั้งกระทรวงการข้าวของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ก่อนหน้านี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ดังนั้นจะต้องผลักดันการจัดตั้งกระทรวงการข้าวเพื่อให้ชาวนาได้มีความมั่นคงในอาชีพ ไม่ถูกโรงสี หยง เอาเปรียบกดราคาที่ไม่เป็นธรรม

2.9 ล้านราย ลุ้นรับอานิสงส์ รัฐบาลใหม่เปลี่ยนที่ ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน


นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ส.ป.ก.ได้ดำเนินงานตามภารกิจในการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอแก่การครองชีพ โดยได้ดำเนินการจัดที่ดินให้พี่น้องเกษตรกรไปแล้วกว่า 36 ล้านไร่ (ที่เกษตรกรรม 35.58 ล้านไร่, ที่ชุมชน 0.41 ล้านไร่, ที่เอกชน 0.53 ล้านไร่) เกษตรกรได้รับการจัดสรรที่ดินกว่า 2.9 ล้านราย (กราฟิกประกอบ) ซึ่งสำนักงาน ส.ป.ก.พร้อมเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลในการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก.ให้เป็นโฉนด

 

2.9 ล้านราย ลุ้นรับอานิสงส์ รัฐบาลใหม่เปลี่ยนที่ ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดิน

ที่ผ่านมาการถือครองที่ดินส.ป.ก. ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันเงินกู้ได้ ยกเว้นกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ก็ให้สินเชื่อได้เพียง 50% ของราคาประเมิน เกษตรกรที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. จึงมีข้อจำกัดในการลงทุน ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการเกษตรลดลงกว่าที่ควรจะเป็น หรือจำเป็นต้องไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบเพิ่มขึ้นด้วย

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,923 วันที่ 17-20 กันยายน พ.ศ. 2566