ยางไทย ผวาวิกฤติโลกไม่จบ 20 ปี ราคานิ่ง คู่แข่งแย่งตลาด

23 มิ.ย. 2566 | 02:37 น.

สมาคมยางพาราไทย หวั่นมีวิกฤติโลกซุกซ่อนอีก ผวาทุบราคายางร่วง ชี้สถานการณ์ไทยยังโชคดี ร้อน-แล้ง ภาคใต้ฝนตกชุก ผลผลิตมีน้อย “โรงรมยาง-ส่งออก” แย่งซื้อ ดึงราคาไม่ร่วงแรง บิ๊ก “แกรนด์รับเบอร์” ชี้ราคายางไทยรอบ 20 ปี ทรงตัว จากมีประเทศผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาแย่งตลาด

สถานการณ์ยางพารา ปี 2566 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คาดการณ์มีทิศทางที่ดีขึ้น จากความต้องการใช้ยางของโลกที่เพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ และการผลิตล้อยาง โดยสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์ในปี 2566 ยอดจัดส่งรถยนต์ของสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตยางทั่วโลกยังคงเติบโตน้อย คาดปริมาณผลผลิตปีนี้จะลดลงเหลือ 14.310 ล้านตัน ผลจากการขาดแคลนแรงงานกรีดยาง โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ขณะที่ปริมาณการใช้ยางคาดอยู่ที่ 15.563 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน

กรกฏ กิตติพล

นายกรกฏ กิตติพล ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายธุรกิจยางพารา สมาคมยางพาราไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ราคายางพาราช่วงท้ายไตรมาส 2 และกำลังย่างสู่ไตรมาส 3 ว่า มีมุมมอง 2 ด้าน ด้านแรก ซัพพลายยางมีน้อย เนื่องจากปีนี้พื้นที่โดยรวมของประเทศมีสภาพอากาศที่ร้อน และแล้ง ฝนทิ้งช่วง ส่วนภาคใต้แหล่งปลูกยางแหล่งใหญ่มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้มีผลผลิตออกมาไม่มาก ซึ่งราคายางน่าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบยางหลังโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นถุงมือยาง ยางล้อรถยนต์มีน้อยลง ทำให้การใช้น้ำยางลดลง ส่งผลต่อราคายางของเกษตรกรยังไม่ดีมากนัก แต่ยังมีโรงรมควันยาง ผู้ส่งออกแย่งซื้อ

ยางไทย ผวาวิกฤติโลกไม่จบ 20 ปี ราคานิ่ง คู่แข่งแย่งตลาด

“ส่วนตัวคิดว่าเศรษฐกิจโลกมีปัญหา โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เวลานี้มีปัญหาเยอะมาก ทั้งเรื่องสถาบันการเงิน เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ยังไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจที่ถึงขั้นล้มครืนลงมา ทุกฝ่ายกำลังเร่งแก้ไข แต่มองอีกมุมสถานการณ์ในขณะนี้เป็นความสมดุลระหว่างซัพพลายกับความต้องการของตลาดที่ยังมีน้อย ทำให้ราคายางยังนิ่งๆ ดังนั้นอยากให้มองภาพรวมทั้งโลก ยกตัวอย่างเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ทั่วโลกมีความกังวลว่าสหรัฐฯจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ จะเกิดวิกฤติคล้ายกับที่เคยเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2008)หรือไม่ หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ใหญ่กว่านี้ซ่อนไว้หรือไม่”

ยางไทย ผวาวิกฤติโลกไม่จบ 20 ปี ราคานิ่ง คู่แข่งแย่งตลาด

นายกรกฏ กล่าวยอมรับว่า ทุกวันนี้ทุกคนกลัวไปหมด เพราะห่วงผลกระทบที่จะตามมาเป็นลูกโซ่ ประกอบกับทั่วโลกเจอปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ รัฐบาลหลายประเทศพยายามขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัด อย่างไรก็ดีหากไม่เกิดวิกฤติอะไรขึ้นมาอีก และสามารถประคับประคองได้ ผู้บริโภคจะกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และเพิ่มกำลังซื้อในตลาด ขณะที่สต๊อกสินค้าของลูกค้าในต่างประเทศในหลาย ๆ สินค้า ยกเว้นถุงมือยางอาจจะมีไม่มากแล้ว

ยางไทย ผวาวิกฤติโลกไม่จบ 20 ปี ราคานิ่ง คู่แข่งแย่งตลาด

 “คาดการณ์ราคานํ้ายางสด ยางแผ่นดิบ หรือยางแผ่นรมควัน ราคาอาจจะขยับยาก ราคาสูงสุดในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 55-60 บาทต่อกิโลกรัม เทียบจากราคาวันนี้ (19 มิ.ย.66) ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี รายงาน ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 47.59 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 49.55 บาทต่อกิโลกรัม เพราะคนใช้น้อย แต่ยางแท่งอาจจะขยับขึ้นใกล้ยางแผ่นมากขึ้น โดยพิจารณาจากสถานการณ์ยางแท่งต้นทุนตํ่ากว่ายางแผ่น และมีผู้ใช้บางเจ้ายกเลิกไม่ใช้ยางแผ่นแล้ว แต่จะให้ราคาสูงกว่าอาจจะยากเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว”

ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์

สอดคล้องกับนายปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด ที่กล่าวว่า ความต้องการใช้ยางของโลกในไตรมาสที่ 1- 2 ของปีนี้ยังไม่ดี และอาจจะชะลอตัวถึงไตรมาส 3 วันนี้จะเห็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก ทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีผลผลิตที่ลดลง หากย้อนไปในอดีตผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกในช่วงแรกมีมาเลเซีย และอินโดนีเซีย พอไทยเข้ามาแทรก มาเลเซียก็ปรับบทบาทไปเป็นผู้ใช้ จากนั้นก็มี เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา และแอฟริกาใต้เข้ามาตามลำดับ ในต้นทุนที่ตํ่ากว่า ดังนั้นจะเห็นว่าราคายางไทยในรอบ 20 ปี ค่อนข้างนิ่งอยู่กับที่ จากตลาดมีทางเลือกมากขึ้น

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3898 วันที่ 22-24 มิถุนายน พ.ศ. 2566