อาหารสัตว์อ่วม ข้าวโพด-กากถั่วฯยังแพงเว่อร์ 40 โรงนับถอยหลัง

25 มี.ค. 2566 | 07:30 น.

วัตถุดิบอาหารสัตว์ “ข้าวโพด ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง” ยังแพง เศรษฐกิจโลกถดถอย-หมูเถื่อนทะลัก ทุบซํ้าราคาไก่ หมูดิ่ง กระทบชิ่งโรงงานอาหารสัตว์-คนเลี้ยงป่วนหนัก 40 โรงงานนับถอยหลัง ร้องว่าที่รัฐบาลใหม่เร่งช่วยด่วน

 

วัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้นทุนหลักของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และภาคปศุสัตว์ไทย ยังทรงตัวระดับสูง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ รวมถึงภัยแล้งในหลายประเทศ ส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน)วัตถุดิบอาหารสัตว์โลกยังขาดแคลนและราคาสูง ล่าสุดจากเศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มถดถอย กระทบการนำเข้าสินค้าไก่ของหลายประเทศจากไทยลดลง มีผลต่อราคาสินค้าไก่ส่งออกและราคาในประเทศปรับตัวลดลง

นายสมภพ เอื้อทรงธรรม รองเลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ณ เวลานี้ยังทรงตัวในระดับสูง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เดือน ก.พ.2565 อยู่ที่ 11.11 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ล่าสุด ณ เดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ 13.60 บาทต่อ กก., กากถั่วเหลือง ก.พ. 2565 อยู่ที่ 19.30 บาทต่อ กก. เดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ 23.11 บาทต่อ กก. และข้าวสาลี ก.พ. 2565 อยู่ที่ 13.32 บาทต่อ กก. และเดือน ก.พ.2566 อยู่ที่ 14.00 บาทต่อ กก.

อาหารสัตว์อ่วม ข้าวโพด-กากถั่วฯยังแพงเว่อร์  40 โรงนับถอยหลัง

จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์หลัก ๆ ข้างต้นยังอยู่ในระดับสูง เฉพาะอย่างยิ่งกากถั่วเหลืองที่ต้องนำเข้าในปีนี้มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีก จากอาร์เจนตินา หนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ เกิดภัยแล้ง คาดผลผลิตจะลดลงจาก 45 ล้านตัน เหลือ 35 ล้านตันในปีนี้ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไทยยังผลิตได้ไม่พอใช้ประมาณปีละ 3 ล้านตัน ปีที่ผ่านมานำเข้าจากเมียนมา 1.5 ล้านตัน แต่ปีนี้ยังมีการสู้รบของกองทัพเมียนมากับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน มีอุปสรรคด้านการขนส่ง คาดปีนี้จะนำเข้าได้ลดลง และส่งผลราคาข้าวโพดยังอยู่ระดับสูง

อาหารสัตว์อ่วม ข้าวโพด-กากถั่วฯยังแพงเว่อร์  40 โรงนับถอยหลัง

ส่วนข้าวสาลี แนวโน้มราคาคงไม่ขึ้นไปมากกว่า ณ ปัจจุบัน (กราฟิกประกอบ) จากออสเตรเลียปีนี้ผลิตข้าวสาลีได้เพิ่มขึ้น คาดไทยจะมีการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนข้าวโพดเพิ่มขึ้น

“ภาพรวมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังสูง ส่งผลกระทบต่อโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์อย่างเดียว โดยที่ไม่มีฟาร์มเลี้ยงไก่ หรือฟาร์มหมูของตัวเอง ซึ่งในสมาคมเราสมาชิกมี 54 ราย ในจำนวนนี้ประมาณ 40 รายเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายเล็กที่ไม่มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือส่งออกเนื้อสัตว์ ในส่วนนี้ได้รับผลกระทบมากทั้งต้องหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทน ที่สุดอาจต้องลดการผลิตหรือปิดกิจการ"

ส่วนโรงงานผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่มีสัดส่วนน้อยในสมาคม แต่เป็นโรงใหญ่ มีกำลังผลิตมาก และมีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และมีบริษัทส่งออกยังอยู่ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ในอนาคตเหลือแต่โรงงงานอาหารสัตว์รายใหญ่ ขอให้รัฐบาลปัจจุบันและว่าที่รัฐบาลใหญ่ได้เร่งช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วน

อย่างไรก็ดีจากผลพวงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในเวลา และภาวะเงินเฟ้อที่สูงในหลายประเทศ ส่งผลให้ราคาสินค้าไก่ส่งออกลดลง เช่น เนื้อไก่ส่งออกไปญี่ปุ่นช่วง 2 เดือนแรกปี 2566 ลดลงเหลือ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากไตรมาสแรกปี 2565 อยู่ที่ 3,167 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน, ส่งออกไปสหภาพยุโรปช่วง 2 เดือนแรกปี 2566 ลดเหลือ 2,800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากไตรมาสแรกปี 2565 อยู่ที่ 3,183 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน กระทบถึงราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มในประเทศลดลงเหลือ 39-40 บาทต่อ กก.จากต้นทุนเฉลี่ยที่ 44 บาทต่อ กก.

ส่วนผู้เลี้ยงหมูได้รับผลกระทบจากหมูเถื่อนลักลอบนำเข้ามาตีตลาด ส่งผลราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มลดลงเหลือ 70-80 บาทต่อ กก. จากเดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ 100 บาทต่อ กก. เกษตรกรขาดทุน