เช็คสถานะโอนเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 ไม่ได้ทำไง

09 ม.ค. 2566 | 10:02 น.

นบข. ไขข้อข้องใจ ติดตาม ตรวจสอบเงินประกันเกษตรกร เช็คสถานะโอนเงินเยียวยาเกษตรกร เงินช่วยเหลือชาวนา ปี 2565/66 ยังไม่ได้ทำไง

หลังจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2556/66 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก 



โดยที่กลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ โดยประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน , ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน , ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน , ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

 

ทยอยจ่ายวันแรก 24 พ.ย.65

 

โดยเริ่มโอนเงินส่วนต่างการประกันรายได้ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันแรก ล่าสุด (4 ม.ค.65) ธ.ก.ส. ได้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 (โครงการไร่ละ1000)  หรือเงินช่วยเหลือชาวนา ครั้งที่ 5 เป็นเงินกว่า 130.53 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 17,284 ครัวเรือน จากปกติ 3 ปีที่ผ่านมาจะโอนเสร็จไม่เกิน 3 สัปดาห์ 

 

สุเทพ คงมาก

 

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตนได้สอบถามกับทาง  ธ.ก.ส.  แล้ว ทางเจ้าหน้าได้แจ้งว่าจะโอน "เงินช่วยเหลือชาวนา" ทยอยจ่ายไปเรื่อย จนกว่าจะครบเกษตรกร จำนวน 4.63 ล้านครัวเรือน ตามวงเงิน 53,491 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นโซน จะทยอยแจ้งจ่ายตามจังหวัดต่างโดยจะแจ้งเป็นระยะๆ  คาดว่าคงไม่นานที่จะจ่ายครบตามเป้าหมาย ไม่ได้เกี่ยวกับการจ่ายประกันรายได้ส่วนต่างข้าว 5 ชนิด 

 

 

"เงินที่นำมาจ่ายในส่วนนี้ต้องรอโยกก้อนโน้นก้อนนี้มา ก็ไม่นานหรอก เพราะตอนนี้ ธ.ก.ส. จ่ายทั้งจำนำยุ้งฉาง พร้อมกับโครงการคู่ขนานอื่นๆ ชาวนาก็ไม่ต้องกลัวใครที่ยังไม่ได้ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะบัญชีรายชื่อชาวนาอยู่กับ ธ.ก.ส.หมดแล้ว ก็เหลือแค่บริหารจัดการการเงินให้แต่ละจังหวัด ผ่านทางเขต ให้ลูกค้าที่เป็นชาวนามารับเงินได้ อดใจรอนิดหนึ่งได้เงินแน่นอน " 

 

ด้านแหล่งข่าว ธ.ก.ส. เผยว่า ในช่วงนี้ เกษตรกรเข้ามาปรับสมุดที่ ธ.ก.ส. เป็นจำนวนมาก นอกจากตรวจสอบยอดเงินด้วยการปรับสมุดบัญชีธนาคารแล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ด้วย ลูกค้าสามารถไปดำเนินการได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา โดยนำสมุดบัญชีเงินฝาก บัตรประชาชน และสมาร์ทโฟน ไปที่ธนาคาร ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถตรวจสอบยอดเงินเข้าบัญชีได้โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสาขาธนาคาร 

 

ผลการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างของ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 4 มกราคม 2566  แจ้งผลการโอนเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรจาก ธ.ก.ส. สำหรับงวดที่
1-12  รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,572,578  ครัวเรือน วงเงิน 7,803,557,840.13 บาท คิดเป็นร้อยละ 42.56 ของวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ (วงเงินชดเชย 18,337,500,000 บาท) คงเหลืองเงิน 10,533,942,159.87 บาท 

 

 

ส่วนในกรณีโอนไม่สำเร็จ จำนวน 2,331 ครัวเรือน วงเงิน 4,207,847.34 บาท อาทิ เกษตรกรไม่มีบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. บัญชื่ชื่อ - สกุลไม่ตรง บัญชีปิด บัญชีถูกอายัด และบัญชีติดข้อจำกัดทั้งนี้ เกษตรกรที่ไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ งวดที่ 1-12  มีจำนวน 1,986,443 ครัวเรือน เนื่องจากราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน

 

โอนเงินประกันรายได้ข้าว งวด 1-12

 

 

กรณียังไม่ได้เงิน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 จากกรณีของลูกค้าปิดบัญชีธนาคารไปแล้ว จึงไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ จึงได้แจ้งให้ลูกค้ามาเปิดบัญชีใหม่ และรอโอนเงินรอบใหม่ นอกจากนี้ขอยืนยันว่าทางธนาคารจะไม่หักเงินใช้หนี้ธนาคารอย่างแน่นอน ยกเว้นแต่เจ้าของบัญชียินยอมนำเงินนั้นใช้หนี้ธนาคารเองเท่านั้น

 

สำหรับ หลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66  กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย



โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิด คูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน



จากนั้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนด

ตรวจสอบเช็คเงินประกันรายได้เกษตรกร คลิกที่นี่