ดันกฎหมายคุม ”ไก่ชน-วัวชน-โคเนื้อ” หนุนไทยตามรอย “ออสเตรเลีย-สเปน”

17 ต.ค. 2565 | 07:24 น.

รัฐบาลดันกฎหมายช่วย ”ไก่ชน-วัวชน-โคเนื้อ” เล็งส่งเสริมเลี้ยงสัตว์เพื่อการท่องเที่ยว ดึงรายได้เข้าประเทศ สร้างความมั่นคงให้เกษตรกร หวังเอาอย่าง “ออสเตรเลีย-สเปน” ขณะที่ กระทรวงเกษตรฯ ขานรับพร้อมหนุนกฎหมายนี้

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้ากฎหมายช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งที่ประชุมได้รับรายงานความคืบหน้าการร่างกฎหมายให้ความช่วยเหลือเกษตรกร พบว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นกฎหมายส่งเสริมเกษตรกร ซึ่งจะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่จะเป็นในลักษณะกฎหมายที่ยังกระจัดกระจายอยู่

 

จึงมีการไปศึกษากฎหมายของต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่มีกฎหมายคุ้มครองเกษตรกร เพราะสามารถสร้างรายได้แต่ละปีได้เป็นจำนวนมาก จากการศึกษากฎหมายพบว่า มีการจัดตั้งตัวแทนปศุสัตว์ เข้ามาช่วยพัฒนาศึกษาวิจัย เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

 

รวมถึงเป็นตัวแทนในการเจรจาซื้อขาย เพราะที่ผ่านมา เกษตรกร ไม่มีอำนาจต่อรองในการซื้อขาย อาจทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม ซึ่งแนวกฎหมายนี้ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯเป็นหลัก ดังนั้น การร่างกฎหมาย ต้องไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งอาจจะมีการยุบรวมกฎหมายได้ 

นอกจากนั้น ยังกล่าวว่า ถ้าจากการศึกษากฎหมายแล้วพบว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมากแล้ว เราก็อาจจะต้องเปลี่ยนมุม เป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะหลายประเทศ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นกิจกรรมท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก อย่าง ประเทศออสเตรเลีย ที่มีการแข่งขันม้า หรือประเทศสเปน ที่มีวัวกระทิง

 

สำหรับการส่งเสริมแบบนี้ จะเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรได้หลายเท่า อย่างบ้านเรามีไก่ชน ตัวละ 100 บาท แต่หากชนเก่ง ก็จะมีมูลค่าถึงหลักล้านบาท ดังนั้น กฎหมายลักษณะนี้จะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงท่องเที่ยวฯ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ จะไม่ใช้เงินของรัฐ แต่จะเป็นการสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกร และสร้างรายได้เข้าประเทศได้จำนวนมาก 

นางนพวรรณ บัวมีธูป ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสุขภาพสัตว์และบำบัดโรคสัตว์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางร่างกฎหมายช่วยเหลือเกษตรกร ที่เน้นให้กลุ่มเกษตรกร เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา หลายกองทุนเกษตรกร มีความกระจัดกระจาย

 

ดังนั้น หากผลักดันกฎหมายนี้ ก็จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มาก รวมถึงยังเป็นการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะหากมีการขึ้นทะเบียนสัตว์ไว้หมด เวลาเกิดภัยพิบัติ ภาครัฐ ก็จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที ต่างกับปัจจุบัน ที่การขึ้นทะเบียนสัตว์ยังไม่ชัดเจน ขณะเดียวกัน การร่างกฎหมาย ตนมองว่า ต้องไม่แยกหลายฉบับ เพราะอาจมีบุคลากรไม่เพียงพอ ที่จะปฎิบัติตามกฎหมาย 

 

นายกฤติพิพัฒน์ รัตนนาวินกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและพัฒนาสัตว์ปีก กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราส่งเสริมเป็นรายชนิดสัตว์ ผ่านคณะกรรมการพัฒนาฯ ที่มีผู้แทนเกษตรกรเข้ามาเป็นกรรมการด้วย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนในการเลี้ยง ดูปริมาณการผลิต แต่สัตว์หลายชนิด ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น โคเนื้อ

 

หากมีกฎหมายเข้ามารองรับ ก็จะสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพนี้ได้ หรือ ไก่ชน วัวชน ที่จะสร้างมูลค่าได้จำนวนมาก แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่ติดกฎหมายอยู่ เช่น การเปิดสนามชนไก่ ชนวัว ที่ราชการยังเข้าไม่ถึง ดังนั้น หากมีการร่วมมือกัน ก็จะช่วยสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรได้