“ท่อเหล็ก”ระงม 3 ปีวนปัญหาเดิม อุตฯ 8 หมื่นล้านถอยหลัง

06 ต.ค. 2565 | 05:00 น.

ปฎิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมท่อเหล็กในไทยที่มีผู้ผลิตรวม 34 ราย ความสามารถของเครื่องจักรกำลังผลิตรวม 2.8 ล้านตัน ยังเผชิญปัญหาเก่า-ใหม่ รุมเร้ามานานกว่า 3 ปี ล่าสุดยังเดินการผลิตจริงได้เพียง 1.4 ล้านตัน

“ท่อเหล็ก”ระงม 3 ปีวนปัญหาเดิม อุตฯ 8 หมื่นล้านถอยหลัง

 

เกิดอะไรขึ้นกับวงการท่อเหล็ก ฟังจากปาก นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์  นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงวิบากกรรมอุตสาหกรรมท่อเหล็ก ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ และแนวโน้มปี 2566 ที่ยังไม่กลับสู่โหมดที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้กลับมาคึกคักได้ในเร็ววัน

 

  • ปัญหารุมเร้าต้นทุนพุ่งกว่า 30%

นายกวินพัฒน์ ฉายภาพอุตสาหกรรมท่อเหล็กในปัจจุบันว่า ตกอยู่ในความเสี่ยงด้านต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันดีเซลที่ส่งผลกระทบต่อการขนส่ง ดอกเบี้ยธนาคารที่สูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน จากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564

นอกจากนี้ยังมีการหลบเลี่ยงพิกัดศุลกากรเข้ามาสำหรับสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี anti-dumping จากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่อเหล็กในประเทศมีการใช้กำลังการผลิตจริงเพียง 40-50% ของกำลังผลิตรวมเท่านั้น จากเดิมเคยใช้กำลังการผลิตถึง 70% อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่ลดลงในตลาด อันเนื่องมาจากการลดกำลังการผลิตลงตามอุปสงค์ อุปทานของโลก ที่จะทำให้วัตถุดิบเหล็กม้วนประเภทต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมท่อเหล็กเริ่มขาดแคลน

 

กวินพัฒน์  นิติเตซเศรษฐ์

 

“ในส่วนของราคาขายปัจจุบันผู้ผลิตท่อเหล็กในประเทศมีการแบกรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้มาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี2565 ซึ่งเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วเพื่อประคองให้เศรษฐกิจโดยรวมสามารถขับเคลื่อนได้ และจะมีการปรับราคาเพื่อความเหมาะสม จากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต”

“ท่อเหล็ก”ระงม 3 ปีวนปัญหาเดิม อุตฯ 8 หมื่นล้านถอยหลัง

 

  • จีนส่งออกตีตลาดไทยเพิ่ม

สำหรับสถิติการนำเข้าท่อเหล็ก โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) สำหรับผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กจากประเทศเวียดนามเมื่อต้นปี 2563 พบว่าปริมาณการนำเข้าลดลง แต่มีการนำเข้าจากจีนมากขึ้น ปัจจุบันทางสมาคมฯได้ยื่น Sunset Review สำหรับสินค้าที่มีการนำเข้าจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตามการนำเข้าจากจีนพบว่ายังมีการนำเข้าโดยการเลี่ยงพิกัดศุลกากรสำหรับท่อที่ใช้ในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นดังกล่าวทางสมาคมฯได้ชี้แจงให้ทางกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) และกรมศุลกากรรับทราบปัญหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

“ตอนนี้ยังมีการหลบเลี่ยงไปยังรหัสสินค้าที่ได้รับการยกเว้น AD เช่น ในกรณีของ dual grade API5L/ASTM A53 Grade B และหลบเลี่ยงไปยังรหัสสินค้าที่ได้รับการยกเว้น AD เช่น ในกรณีของท่อร้อยสายไฟ มีการต๊าปท่อเพิ่ม เพื่อหลบเลี่ยงเข้าในพิกัด Semi-Finished Goods รวมตอนนี้ในประเทศจีนมีข่าวว่าทางรัฐบาลจะออกมาตรการ Export License ให้กับผู้ส่งออก เนื่องจากมีผู้ส่งออกหลบเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านช่องทางการส่งออก”

 

“ท่อเหล็ก”ระงม 3 ปีวนปัญหาเดิม อุตฯ 8 หมื่นล้านถอยหลัง

 

อย่างไรก็ตามปี 2565 ไทยมีกำลังการผลิตท่อเหล็กรวมในประเทศอยู่ที่ 2.8 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันผลิตจริงเพียง 1.4 ล้านตัน ซึ่ง 1.4 ล้านตันนี้รวมถึงท่อเหล็กส่งออกแล้ว จากความต้องการใช้ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิดทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการของตลาดในประเทศภาพรวมเหลือเพียง 1.5 ล้านตันต่อปี จากภาวะปกติความต้องการจะอยู่ที่ 1.8 ล้านตัน จะเห็นได้ว่ายังมีส่วนต่างของกำลังการผลิตในประเทศและความต้องการอยู่  ซึ่งผู้ผลิตยังต้องเสียส่วนแบ่งตลาดส่วนนี้ให้กับสินค้านำเข้าที่เลี่ยงพิกัดอากร AD

 

  • จับตาปี 2566 ยังไม่ดีขึ้น

นายกวินพัฒน์ ยังคาดการณ์ในปี 2566 ว่า ทิศทางอุตสาหกรรมท่อเหล็กในช่วงครึ่งปีแรกจะอยู่ในภาวะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ธุรกิจการก่อสร้างที่เป็น sector ใหญ่ของอุตสาหกรรมท่อเหล็กมีการชะลอตัวลงในส่วนของภาคเอกชน ส่วนการลงทุนของภาครัฐจะมาช่วยพยุงภาคการก่อสร้าง เนื่องจากจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายระบบขนส่งมวลชน และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และหากธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เริ่มมีการคงอัตราอดอกเบี้ยหรือมีการปรับลดดอกเบี้ยลง ภาวะเงินเฟ้อจะดีขึ้น รวมถึงมีข่าวดีในเรื่องของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และข่าวเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะได้เห็นการกลับมาของดีมานด์ในภาคการก่อสร้าง

 

“ท่อเหล็ก”ระงม 3 ปีวนปัญหาเดิม อุตฯ 8 หมื่นล้านถอยหลัง

 

  • แย่สุดต้องปิดตัวลง

อย่างไรก็ตามโดยภาพรวม ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมท่อเหล็ก ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาหลายปีนั้น ส่วนมากเกิดจากการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและการหลบเลี่ยงพิกัดอากร AD ที่ส่งผลให้ความสามาราถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศลดลง หากยังไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศบางรายอาจต้องลดกำลังการผลิต หรือเลวร้ายที่สุดคือปิดตัวลง ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมท่อเหล็กที่มีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท และการจ้างงานมากกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งถือเป็น 1 ในเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

“3 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่อเหล็กได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากการระบาดส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กต้นน้ำและกลางน้ำมีการชะลอการผลิตลงทำให้ซัพพลายลดลง และส่งผลให้ราคามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาท่อเหล็กมีราคาสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ในขณะที่ซัพพลายลดลง ดีมานด์ก็ลดลงเช่นกัน รวมถึงปัญหาด้านวงเงินสินเชื่ออันเนื่องมาจากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นกว่าทำให้ต้องมีการจัดการวิธีการบริหารสต๊อก สินค้าคงคลังใหม่ทั้งหมดเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ผลิตท่อเหล็กฯ จะสามารถซัพพลายความต้องการของตลาดในประเทศได้อย่างเพียงพอ” นายกวินพัฒน์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณทางกองปกป้องและตอบโต้ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในประเทศจากการนำเข้าและราคาที่ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันที่เกิดขึ้น และปัจจุบันทางสมาคมฯอยู่ระหว่างการยื่น review มาตรการ Anti-dumping เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องจากยังพบว่ายังมีการนำเข้าสินค้าที่ถูกใช้มาตรการโดยเลี่ยงพิกัดนำเข้าไปใช้พิกัดอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายที่กำหนด

 

“ท่อเหล็ก”ระงม 3 ปีวนปัญหาเดิม อุตฯ 8 หมื่นล้านถอยหลัง

 

สุดท้ายกลุ่มท่อเหล็กยัง คาดการณ์ว่าปี 2566 เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกจะอยู่ในภาวะใกล้เคียงกันอันเนื่องมาจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่อง อัตราแลกเปลี่ยน และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการปรับดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าเรากำลังอยู่ใน perfect storm จากปัจจัยรอบด้านที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้สูงว่าโลกของเรากำลังเข้าสู่ภาวะ ถดถอย (recession) ภายในปี 2566 แต่ก็จะมีฟ้าหลังฝนเสมอเมื่อเฟด เริ่มคุมภาวะเงินเฟ้อได้แล้ว อาจมีการปรับลดดอกเบี้ยลงช่วงครึ่งปีหลัง 2566 จากปัจจัยข้างต้นที่ได้กล่าวมามองว่าช่วงครึ่งปีแรกจะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจทรงตัวหรืออาจถดถอยเล็กน้อยเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น แต่ถ้าครึ่งปีหลังเฟดเริ่มมีการลดดอกเบี้ยลงเราจะได้เห็นสัญญาณการกลับมาซื้อขายของตลาดอย่างแน่นอน