การบินไทย ศึกษาเปิดเข้าสหรัฐฯ รับ FAA ปลดล็อกไทย บินเข้าอเมริกาครั้งแรกในรอบ 10 ปี

02 พ.ค. 2568 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2568 | 09:06 น.

การบินไทย ศึกษากลับไปเปิดเข้าสหรัฐอเมริกา รับ FAA ปลดล็อกไทย คืนสถานะมาตรการบิน สู่ระดับ Category 1ส่งผลให้ไทยบินตรงเข้าสหรัฐฯได้ครั้งแรกในรอบ 10 ปี ด้านกระทรวงท่องเที่ยว ใช้โอกาสนี้บูมท่องเที่ยว

การบินไทย ศึกษากลับมาบินเข้าสหรัฐฯ หลัง FAA ปลดล็อกไทย

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้เมื่อองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ประกาศปรับอันดับความน่าเชื่อถือสายการบินของไทยจาก Category 2 ขึ้นเป็น Category 1 ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างการศึกษาว่าถ้าจะกลับไปเปิดบินในเส้นทางบินสู่สหรัฐอเมริกาจะคุ้มหรือไม่ ซึ่งจะต้องใช้เครื่องบินลำตัวกว้าง 3 ลำ ซึ่งอาจจะเป็น แอร์บัส 350 หรือ โบอิ้ง 787 จึงจะบินได้ 7 วัน

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

โดยไม่ใช่บินตรง แต่จะบินจากโอซาก้า เพื่อรับผู้โดยสารไปโอซาก้า และบินไปอเมริกา โดยในแผน 10 ปียังไม่มีบินไปสหรัฐอเมริกา เพราะวางการใช้เครื่องบินไว้หมดแล้ว เพื่อนำมาเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินที่มีศักยภาพ เช่น ปารีส หรือการกลับไปบินเวียนนา

ขณะที่นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า FAA ประกาศปรับอันดับความน่าเชื่อถือสายการบินของไทยจาก Category 2 ขึ้นเป็น Category 1 ช่วยปลดล็อกการบินของไทย ไปยังสหรัฐฯ ส่วนการบินไทย ได้ทำการศึกษาเส้นทางบินไปสหรัฐ ไม่ใช่บินตรงแต่มีจุดพักแวะ โดยเมืองที่ทำการศึกษาซานฟรานซิสโก ลอสแองเจอลิส นิวยอร์ก ซึ่งการบินไทยเคยทำการบิน

ชาย เอี่ยมศิริ

หากการศึกษาออกมาเป็นไปได้ที่จะทำการบิน แต่ก็ติดขัดที่ไม่มีเครื่องบินลำตัวกว้างเพียงพอ เพราะปัจจุบัน เครื่องบินที่การบินไทยสั่งซื้อโบอิ้ง 45 ลำแรก กว่าจะส่งมอบได้ก็เป็นปี 2570 ขณะที่เส้นทางที่ทำรายได้ดี ก็มองว่าน่าจะนำเครื่องบินที่เพิ่มเข้ามาไปทำการเพิ่มความถี่ก่อน อาทิ ปารีส หรือเมืองที่ยังไม่ได้กลับไปบิน เช่น อัมสเตอร์ดัม เวียนนา เป็นต้น นายชาย กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตามในอดีตการบินไทย ได้ให้บริการในเส้นทางบินสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2523 ยาวนานกว่า 35 ปี ก่อนจะหยุดให้บริการไปเมื่อ 10 ปีก่อน โดยเส้นทางบินสุดท้ายคือ กรุงเทพฯ-โซล-ลอสแอนเจลิส ที่หยุดให้บริการไปในปี 2558

อีกทั้งที่ผ่านมาการบินไทย เคยเปิดเส้นทางบินตรงสู่นิวยอร์กเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548 ด้วยแอร์บัส A340-500 ใช้เวลาการบินรวดเดียวราว 17 ชั่วโมง ระยะทางเกือบ 14,000 กิโลเมตร แต่ท้ายสุดประสบปัญหาขาดทุนหนัก จึงได้ตัดสินใจยุติการเปิดบินตรงเข้าสหรัฐอเมริกาไป

การบินไทย

กระทรวงท่องเที่ยวใช้โอกาส FAA เปิดทางให้ไทยบินเข้าสหรัฐครั้งแรกในรอบ 10 ปี บูมท่องเที่ยว 

ด้านนางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา  เปิดเผย ข่าวดีของโอกาสท่องเที่ยวไทยที่จะทำให้ นักท่องเที่ยวจากประเทศหลักๆเช่นสหรัฐอเมริกาสามารถเดินทางมาสู่ประเทศไทยด้วยสายการบินที่เป็นตรง โดยองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐฯ (FAA) เได้ปรับเพิ่มระดับความปลอดภัยการบินระหว่างประเทศของไทยเป็น “Category 1” หลังจากเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วถูกลดระดับไป “Category 2”

ที่สำคัญการยกระดับความปลอดภัยสนามบินจะทำให้การท่องเที่ยวไทยดีขึ้น ซึ่ง กระทรวงการท่องเที่ยว ฯ จะรีบใช้โอกาสนี้ประสานวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นคมนาคม สมาคมสายการบิน   สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างมีมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะสานต่อ และกระทรวงการต่างประเทศ ให้สายการบินสหรัฐฯ มาลงที่ประเทศไทยมากขึ้น

ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากที่รัฐบาล เคยเชิญทูตสหรัฐฯมาพูดคุยเรื่องนี้แล้ว แต่ติดด้วยเรื่องการจัดอันดับ Cat 2 ซึ่งสหรัฐฯยินดี ถ้าเมื่อไหร่เลื่อนเป็น Cat 1 ได้ก็สามารถส่งเสริมสายการบินมาลงที่ไทยได้

สำหรับเรื่อง Connectivity นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญมากเพราะจะช่วยเรื่องการท่องเที่ยว โดยตรง ชาวอเมริกันเป็นชนชาติที่ท่องเที่ยวเยอะที่สุดในโลก ซึ่งจะสั่งการให้สำนักงาน  ททท สาขาอเมริกาเดินหน้าเชิงรุกและแข็งแกร่งขึ้น มีการโปรโมทประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มสายการบิน Seat Capacity ที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเดินทางท่องเที่ยว

CAAT เผย 4 ผลดีหนุนอุตสาหกรรมการบิน

ด้านสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย CAAT หรือ กพท. เผยว่า การ FAA เลื่อนสถานะของประเทศไทยสู่ CAT 1 นอกจากจะทำให้เกิดการบินเชื่อมโยงระหว่าง 2 ประเทศ หลังจากหยุดบินมานานกว่า 10 ปีแล้ว ยังมีผลดีในด้านอื่นๆอีก 4 ด้าน ได้แก่

  1. เสริมสร้างภาพลักษณ์ความปลอดภัยระดับโลก

หลายประเทศโดยเฉพาะใน ยุโรป และ เอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ยึดถือมาตรฐาน FAA และ ICAO ในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของสายการบินและหน่วยงานกำกับดูแล เมื่อไทยได้ CAT 1 จะทำให้สายการบินไทยมี ความน่าเชื่อถือสูงขึ้น ในการขอเพิ่มเที่ยวบินหรือเปิดเส้นทางบินใหม่ในประเทศเหล่านั้นง่ายขึ้น

  1. สนับสนุนการเจรจาเรื่องสิทธิการบิน (Air Services Agreements)

บางประเทศอาจใช้มาตรฐาน FAA เป็นหนึ่งใน เกณฑ์ประกอบการพิจารณา ในการอนุญาตเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน การมีสถานะ CAT 1 ทำให้ฝ่ายไทยมี อำนาจต่อรอง สูงขึ้นในการขอเจรจาเพิ่มสิทธิการบินและจำนวนเที่ยวบิน

  1. ผลต่อพันธมิตรสายการบินระดับโลก (Alliances)

สายการบินในเครือพันธมิตร เช่น Star Alliance ซึ่งมีมาตรฐานสูง อาจมองไทยในแง่บวกมากขึ้นหลังได้ CAT 1 ทำให้มี โอกาสขยายการร่วมมือ ทั้งด้านรหัสเที่ยวบินร่วม (Code Share) และตารางการบินระหว่างประเทศพันธมิตร ส่งผลให้เกิด การเพิ่มเที่ยวบิน ระหว่างไทยกับประเทศอื่นในเครือ

4. ความมั่นใจของผู้โดยสารและหน่วยงานกำกับดูแลต่างประเทศ

หน่วยงานการบินพลเรือนของบางประเทศ (เช่น EASA ของยุโรป) จะให้ความสำคัญกับ ความปลอดภัยของประเทศต้นทาง เมื่อไทยได้ CAT 1 จะช่วยสร้าง ความมั่นใจ ให้กับประเทศปลายทางที่สายการบินไทยจะบินไป เพิ่มโอกาสในการขออนุญาตเพิ่มความถี่ได้ง่ายขึ้น