คลังยื้อ "การบินไทย" ชะลอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้น เสียหายวันละ 2 ล้าน

29 พ.ย. 2567 | 02:25 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2567 | 07:47 น.

กระทรวงการคลัง ยื้อ "การบินไทย" ขอให้นายทะเบียนบริษัทมหาชน ชะลอการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วการบินไทย ออกไปเป็นหลังวันที่ 29 พ.ย.นี้ วงในตั้งข้อสังเกตุคาดหวังใช้สิทธิ์ในฐานะเจ้าหนี้ โหวตเพิ่ม 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูภาครัฐ การบินไทยขู่ฟ้อง เสียหายวันละ 2 ล้านบาท

จากกรณีที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับโครงสร้างทุน โดยการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งกระทรวงการคลังใช้สิทธิตามแผนฟื้นฟู 100% ขณะที่เจ้าหนี้หุ้นกู้ และเจ้าหน้าสถาบันการเงิน ใช้สิทธิ 24.5 % ตามแผน และยังมีต้องการเกิน 3 เท่าอีกด้วย โดยที่ผ่านมามีจำนวนหุ้นที่จัดสรรสำหรับการแปลงหนี้เป็นทุนรวม 20,989.4 ล้านหุ้น มูลค่าที่แปลงหนี้เป็นทุนอยู่ที่ 53,453.2 ล้านบาท

คลังยื้อ \"การบินไทย\" ชะลอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้น เสียหายวันละ 2 ล้าน

ดังนั้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 บริษัท การบินไทย จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัท อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนของแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว

แต่ทางสำนักงานบริการหนี้สาธารณะ( สบน) กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้ชะลอการจดทะเบียนจนหลังวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 การจดทะเบียนล่าช้าได้ส่งผลกระทบทางการเงินต่อบริษัทการบินไทย  คือค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ วันละสองล้านบาทซึ่งการบินไทยคงต้องดำเนินการตามกฏหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งต่อไป

ล่าสุด นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือที่ กบ พิเศษ 01-023 ถึงนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยขอให้นายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อ 5.6.3 ของแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง

คลังยื้อ \"การบินไทย\" ชะลอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้น เสียหายวันละ 2 ล้าน

โดยในหนังสือระบุว่า “ตามที่เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2567 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ได้ยื่นคำขอจดทะเบียน (แบบ บมจ. 101) เพื่อขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทฯ อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อ 5.6.3 ของแผนฟื้นฟูกิจการ ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว ดังมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่อ้างอิง 1. และ 2. นั้น

การบินไทยขอเรียนให้นายทะเบียนโปรดพิจารณาดำเนินการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ดังมีรายละเอียดตามคำขอจดทะเบียน โดยเมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทฯ ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทนชำระแล้วของบริษัทฯ อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามข้อ 5.6.3 ของแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนั้น ย่อมเป็นกรณีถือเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดในการดำเนินการตามคำสั่งศาลดังกล่าว โดยมิพักต้องรับฟังคำคัดค้านของเจ้าหนี้ของบริษัทฯ แต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากมีเจ้าหนี้รายใดจะทำให้การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนดังกล่าวล่าช้า โดยอ้างว่าจะกระทบความเป็นเจ้าหนี้ก็เป็นการอ้างของเจ้าหนี้รายหนึ่งในจำนวน 4,000 ราย และจะเป็นการทำให้เจ้าหนี้รายอื่นเสียเปรียบและการล่าช้าจะทำให้บริษัทมีผลกระทบที่จะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ถึงวันละประมาณ 2 ล้านบาท และจะทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย มีผลกระทบอย่างร้ายแรง บริษัทฯจะได้ดำเนินการทั้งทางแพ่งและทางอาญา ต่อไป

การบินไทย

แหล่งข่าวจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การที่กระทรวงการคลัง ขอชะลอการจดทะเบียนหุ้นออกไปเป็นหลังวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ มีความเป็นไปได้ที่ต้องการใช้สิทธิในฐานเจ้าหนี้ เพื่อโหวตเพิ่ม 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจากภาครัฐ 2 ราย ได้แก่ 1.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ 3 ของการบินไทย ที่เสนอเข้ามาให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาในวันนี้

เนื่องจากมีการมองว่าหากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทการบินไทยแล้วเสร็จ ก็จะมีผลทำให้กระทรวงการคลังไม่เป็นเจ้าหนี้การบินไทย และกลับสู่สถานะการเป็นผู้ถือหุ้น เพราะปัจจุบันกระทรวงการคลังแปลงหนี้ทั้งหมด 100% แล้ว 

สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นหลังการแปลงหนี้เป็นทุน และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน การบินไทยได้สรุปโครงสร้างการถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุนข้อมูล ณ 31 ต.ค.2567 พบว่า กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 47.9% ,รัฐวิสาหกิจ 2.1% ,กองทุนวายุภักษ์ 7.6% ,ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 42.4%

โครงสร้างการถือหุ้นของการบินไทย หลังการปรับโครงสร้างทุน

ส่วนโครงสร้างการถือหุ้นหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเบื้องต้น พบว่ากระทรวงการคลัง ถือหุ้น 33.4% ,รัฐวิสาหกิจ 4.1% ,กองทุนวายุภักษ์ 2.8% ,ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 2.8% ,เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% และผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงานและบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ 12.6%