ลุ้น "ชุมชนริมทะเลสาบสงขลา" ขึ้นทะเบียนมรดกโลกฯ แหล่งใหม่ของไทย

11 เม.ย. 2567 | 22:50 น.

เปิดเอกสารครม. ผลักดัน “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” Songkhla and its Associated Lagoon Settlements ขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งใหม่ของไทย ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก 21 - 31 กรกฎาคม 2567 ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย

“สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements กำลังถูกรัฐบาลเดินหน้าผลักดันให้เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งใหม่” ของประเทศไทย 

ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 9 เม.ย. 67 มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlementsเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก 

รวมทั้งครม.ยังเห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกลงนามในเอกสารนำเสนอฯ ต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาตินำเสนอเอกสารนำเสนอฯ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

เหตุผลตามเอกสารในการประชุมครม.อธิบายให้เห็นภาพและเส้นทางว่า ทำไมจะต้องเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ให้ได้ก่อน

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของวาระครม.ดังกล่าว อธิบายเพิ่มว่า สาเหตุที่จะต้องให้ครม.เห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements 

เพื่อจะได้ดำเนินการจัดส่งเอกสารนำเสนอฯเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ 15 เมษายน 2567 

ซึ่งหมายความว่าเมื่อครม.อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 9 เม.ย. เท่ากับว่าไทยเสนอได้ทันเวลากรอบเวลาวันที่ 15 เม.ย. 67

คำอธิบายเพิ่มเติมของ ทส. ระบุด้วยว่า เมื่อเสนอศูนย์มรดกโลกแล้ว จากนั้นศูนย์มรดกโลกก็จะดำเนินการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อให้การรับรองในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อให้สามารถจัดส่งเอกสารการนำเสนอเพื่อขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกได้ในปี 2568

ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการเสนอนั้น เนื่องจาก “อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ” กำหนดให้รัฐภาคีสมาชิกที่ต้องการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมหรือทางธรรมชาติจัดส่งเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกดังกล่าวต่อศูนย์มรดกโลกในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก อย่างน้อย 1 ปี ก่อนการขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกเป็นมรดกโลก

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ระบุด้วยว่า หาก “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” Songkhla and its Associated Lagoon Settlements ถูกเสนอและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 2568 ก็จะเป็นแหล่งที่ 5 ของไทย 

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 4 แหล่ง ดังนี้

  1. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
  2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร
  3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
  4. เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง

และมีแหล่งที่อยู่ระหว่างกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 2 แหล่ง ดังนี้

  1. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
  2. แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ