เปิด 10 จังหวัดเมืองรอง ยกระดับสู่เมืองหลัก อินเซ็นทีฟปั้ม ลงทุน ท่องเที่ยว

28 ธ.ค. 2566 | 05:38 น.

รัฐบาล-หอการค้าไทยเตรียมจะเปิดตัว 10 จังหวัดเมืองรอง สร้างโมเดลต้นแบบยกระดับสู่เมืองหลัก ดึงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สอดรับกับแผนของททท.ในการกระตุ้น 365 วันเที่ยว 55 เมืองรองในปี 2567 มีจังหวัดไหนบ้าง เช็คได้ที่นี่

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการผลักดันโครงการพัฒนาเมืองรอง 10 จังหวัดเป็นเมืองหลัก ถือเป็นโมเดลต้นแบบความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการยกระดับรายได้และลดความเหลื่อมลํ้าให้กับประเทศไทย ซึ่ง "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจและมีการหารือกับหอการค้าฯ ถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว

สนั่น อังอุบลกุุล

โดยขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้แทนของหอการค้าฯ โดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดก่อนที่จะแถลงข่าวเดินหน้าโครงการ ซึ่งนี่ถือเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ที่หอการค้าฯ และรัฐบาลจะร่วมกันดันเศรษฐกิจในระดับจังหวัดให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และจะเป็นโมเดลเพื่อขยายผลกับจังหวัดอื่นๆ ในระยะต่อไปด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากรัฐบาล เผยว่า โครงการพัฒนาเมืองรอง 10 จังหวัดเป็นเมืองหลัก จะประกอบไปด้วย

  • แพร่
  • ลำปาง
  • นครสวรรค์
  • นครพนม
  • ศรีสะเกษ
  • ราชบุรี
  • กาญจนบุรี
  • นครศรีธรรมราช
  • ตรัง
  • จันทบุรี

โดยในจังหวัดเหล่านี้ มี 9 เมืองรองที่จะยกระดับสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก ขณะที่กาญจนบุรี ที่ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักอยู่แล้ว เพราะมีนักท่องเที่ยวเกิน 4 ล้านคนไปแล้ว แต่ก็มีการบรรจุไว้ในโมเดลนี้ด้วย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องการยกระดับให้เกิดวันพักค้างของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเน้นการจัดอีเว้นท์ด้านแสงสี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

สำหรับวิธีการเลือกจังหวัดในเมืองดังกล่าว จะพิจารณาจาก

1. ขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และมีเศรษฐกิจขนาดเล็กถึงปานกลาง

2. มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นจุดแข็งในด้านวัฒนธรรม เกษตรกรรม สินค้าชุมชน ท่องเที่ยวและอาหาร

3. มีความสะดวกด้านการคมนาคมและการเดินทางเข้าถึง

4. ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากบุคคลภายในจังหวัด ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา เอกชน

5. ภาคเอกชนมีความพร้อมในการลงทุนขนาดกลางและใหญ่ในพื้นที่จังหวัด

ทั้งนี้แผนการยกระดับ 10 เมืองรองสู่เมืองหลัก จะเน้นใน 3 กลยุทธ์ ได้แก่

  • กลยุทธ์ที่ 1  Unlock Potential เมืองรอง

ได้แก่ 1. เร่งการส่งเสริมการลงทุน และการให้อินเซ็นทีฟในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน 2. การสร้างแลนด์มาร์ก ด้านการท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรม และส่งเสริมเอกลักษณ์ อัตลักษณ์วัฒนธรรมไทยที่ดี เชื่อมโยงโครงการ One Family One Soft Power (OFOS)

  • กลยุทธ์ที่ 2 สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ได้แก่ พัฒนาระบบสาธารณูปโภค (นํ้าประปา ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง) ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยีและการสื่อสารที่ทันสมัยทั่วถึง 2. การสร้างเมืองรองเป็นโมเดลต้นแบบเมือง Net Zero รวมถึงระบบจัดการขยะให้ครบวงจรด้วยระบบ Reduce, Reuse,Recycle

  • กลยุทธ์ที่ 3 ช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ได้แก่ 1. กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้ทั่วถึง เพิ่มรายได้ให้เอสเอ็มอี โดยการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและเพิ่มมูลค่าของสินค้า 2. มาตรการส่งเสริมให้คนเก่ง (Talent) ที่เป็นคนไทยกลับสู่ภูมิลำเนา และแรงงานศักยภาพสูงชาวต่างชาติ เข้ามาทำงานในพื้นที่ และ 3. ส่งเสริมการจ้างงานเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ คนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ ในพื้นที่

นอกจากนี้การยกระดับ ทั้ง 10 จังหวัดดังกล่าว ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว คมนาคม การค้า และการจัดเทศกาลเชื่อมโยงไปยังจังหวัดใกล้เคียงด้วย

ขณะที่ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการที่หอการค้า มีนโยบายที่จะยกระดับเมืองรองสู่เมืองหลักเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งก็สอดรับทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของททท.ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2559 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กำหนดให้จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวไม่เกิน 4 ล้านคน ถือว่าเป็นเมืองรอง ซึ่งมีทั้งหมด 55 จังหวัด

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์

ททท.ได้เริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองภายใต้แนวคิดต่างๆมาตั้งแต่ปี 2558 อาทิ  “12 เมืองต้องห้ามพลาด”, “12 เมืองต้องห้ามพลาด Plus”, “เมืองรอง ต้องลอง”, “เมืองรองต้องไป” และล่าสุดในปี 2566-2567 แนวคิด “เปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยวเมืองรองมิรู้ลืม” กระทั่งการเดินทางท่องเที่ยว เมืองรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง          

ล่าสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กันยายน 2566) พบว่าในพื้นที่เมืองรอง 55 จังหวัด มีคนไทยเดินทางท่องเที่ยว 73.32 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 34.47% สร้างรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยว 169,608.66 ล้านบาท เติบโต 38.86%

การเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง

ในปี 2567 ททท.จะเร่งต่อยอดโครงการ “365 วัน มหัศจรรย์ เที่ยวเมืองรอง” จัดกิจกรรมกระตุ้นการตลาดเชิงรุกตั้งแต่วันนี้ต่อเนื่องไป ตลอดแผนการตลาดปีงบประมาณ 2567 ร่วมกันผลักดันให้เมืองไทยสามารถสร้างแรงจูงใจให้คนตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกวัน โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนซึ่งมีให้เลือกหลากหลาย ด้วยวิธีเน้น “เปิดประสบการณ์ใหม่ เที่ยวเมืองรองมิรู้ลืม” ภายใต้แคมเปญสื่อสารตลาดในประเทศ “สุขทันที ที่เที่ยวไทย”

โดย ททท. จะร่วมกับภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันเน้น “สร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า” นำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวไทยด้วย Soft Power ซึ่งเป็นจุดแข็งสะท้อนเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวรองแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ในรูปแบบ Meaning Full Travel + Story Telling

ด้วยกลยุทธ์สร้างการรับรู้สู่การเดินทางจริงผ่านประสบการณ์ ภาพจำ ความรู้สึก และรสชาติอาหารท้องถิ่นที่คุ้นเคยเชื่อมโยงกับเรื่องราวบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม อัตลักษณ์พื้นที่ในเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด ผู้ว่าททท.กล่าวทิ้งท้าย