เทียบฟอร์ม สายการบิน-โรงแรม Q1 ฟันกำไรพุ่ง รับท่องเที่ยวฟื้น

20 พ.ค. 2566 | 06:42 น.

สายการบิน-โรงแรมที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯต่างตีปีก จากผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2566 ที่พลิกฟื้นกลับมามีกำไรอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากท่องเที่ยวฟื้นตัว

ท่องเที่ยวฟื้น ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2566 พลิกฟื้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

ไตรมาส 1 ปี 2566 ทุกสายการบินต่างกลับมาทำกำไรอีกครั้ง จากทราฟฟิกการเดินทางของผู้โดยสารที่กลับมาเร็ว แม้อาจจะยังไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ก็ตาม

เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมที่ส่วนใหญ่โกยกำไรสูงสุดตั้งแต่เริ่มโควิด หลังเผชิญมรสุมมากว่า 3 ปี

อนิสงส์การเปิดประเทศเต็มรูปแบบของทุกประเทศ  หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ส่งผลให้การท่องเที่ยวไตรมาส 1 ปีนี้เติบโตต่อเนื่อง โดยทุกสายการบินต่างทยอยกลับมาเปิดทำ การบิน และขนส่งผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้วที่ยังทำ การบินได้น้อยมาก 

ผลประกอบการสายการบิน-โรงแรม Q1/66

การบินไทย” พลิกจากขาดทุนกลับมาทำกำไร 12,513 ล้านบาท โดยไตรมาส 1 ปีนี้มีรายได้รวมกว่า 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271.2% จากช่วง เวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า มีรายได้อยู่ที่ 11,181 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขายตั๋วเครื่องบิน ซึ่งการบินไทยกลับมาทำการบินแล้วคิดเป็นสัดส่วน 65% หากเทียบกับก่อนเกิดโควิด ส่งผลให้การบินไทยมีกระแสเงินสดในมือก็อยู่ที่ราว 4.2 หมื่นล้านบาท 

เทียบฟอร์ม สายการบิน-โรงแรม Q1 ฟันกำไรพุ่ง รับท่องเที่ยวฟื้น

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 ทำได้ดีกว่าแผนฟื้นฟู และแนวโน้มดีต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 การบินไทยจะเพิ่มความถี่ในเส้นทาง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เนื่องจากเครื่องบินเอ 350 ที่เช่ามาจะเข้ามา 4 ลำ จากทั้งหมด 11 ลำที่เช่ามา

ชาย เอี่ยมศิริ

นอกจากนี้ยังเรายังเริ่มเห็นบุ๊กกิ้งล่วงหน้าของเส้นทางบินยุโรปที่เข้ามาแล้ว กว่า 40% เมื่อรวมทั้งปีผลประกอบการปี 2566 ทำได้ดีกว่าแผนฟื้นฟูเช่นกัน และคาดว่าการบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไม่เกินปี 2567 โดยตลอดทั้งปีนี้การบินไทยตั้งเป้า รายได้ที่ราว 1.3-1.4 แสนล้านบาท มีจำนวนผู้โดยสาร 9 ล้านคน 

ขณะที่ “บางกอกแอร์เวย์ส” ก็พลิกจากขาดทุนกลับมามีกำไร 875.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 185.8% จากจำนวนผู้โดยสารที่สูงทะลุ 1.1 ล้านคน มีรายได้ รวม 5,743 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 238.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ของธุรกิจสายการบิน และรายได้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องสนามบิน

เทียบฟอร์ม สายการบิน-โรงแรม Q1 ฟันกำไรพุ่ง รับท่องเที่ยวฟื้น

ไทยแอร์เอเชีย” มีรายได้ในไตรมาส 1 ปีนี้ อยู่ที่ 9,814.8 ล้านบาท เติบโต 369% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีผู้โดยสารใช้บริการ 4.58 ล้านคน พลิกจากขาดทุนในไตรมาสแรกปีที่แล้ว กลับมาทำกำไร 359.4 ล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้ และยังมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) และกำไรสุทธิเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน

จุดหลักมาจากสัญญาณบวกตลาดเส้นทางบินจีนฟื้นตัวชัดเจนตั้งเเต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา และการฟื้นตัวของธุรกิจทั้งตลาดภายในประเทศที่มีส่วนเเบ่งการตลาดสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 37% และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี พร้อมตั้งเป้ามีกำไรสุทธิทั้งปีเป็นครั้งเเรกหลังโควิด-19 

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ปลายไตรมาส 1 ไทยแอร์เอเชียให้บริการเส้นทางบินจีนไปแล้ว 67 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ พร้อมมีเเผนเพิ่มเป็น 114 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในไตรมาส 2 นี้ และเร่งกลับไปบินให้ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ในปี 2562 ที่ประมาณ 140 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ 

รวมทั้งตลาดอาเซียน อินเดีย และตลาดนักท่องเที่ยวใหม่อย่างฟุกุโอกะและไทเป ก็ได้รับการตอบรับดีเยี่ยมเช่นกัน

ในปี 2566 ไทยแอร์เอเชียยังคงเป้าหมายขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 9.95 ล้านคน คาดการณ์อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 87% พร้อมนำฝูงบินทั้งหมด 53 ลำมาปฏิบัติการบินให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามหากการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ TAA ก็มีแผนรองรับเพื่อเพิ่มฝูงบินเพื่อคว้าโอกาสในการเติบโต

สำหรับธุรกิจโรงแรมในไตรมาส 1 ปีนี้ต่างฟื้นตัวชัดเจน “CENTEL” จากขาดทุนกลับมาทำกำไร 629 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เริ่มโควิด ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมเป็นสำคัญ ขณะที่ธุรกิจอาหารได้เห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 114% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4,187 บาท จากการเพิ่มของอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OCC) จาก 35% ในไตรมาส 1/2565 เป็น 78% ในไตรมาส 1/2566 

ขณะที่ “ไมเนอร์” ไตรมาส 1 ปีนี้แม้ว่าจะขาดทุนอยู่ 647 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลส่วนใหญ่มาจากการเป็นช่วงนอกฤดูการเดินทางในทวีปยุโรปตามที่บริษัทได้คาดการณ์และประมาณการไว้ล่วงหน้า แต่ผลขาดทุนก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากผลขาดทุน 3.6 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2565 

ในขณะที่ผลกำไรของไมเนอร์ ฟู้ดเติบโตมากกว่า 4 เท่าจากปีช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงผลักดันจากการยกเลิกมาตรการการปิดเมืองต่างๆ ในจีนและการรักษาตำแหน่งของไมเนอร์ ฟู้ด ในฐานะผู้นำตลาดร้านอาหารในไทย

เทียบฟอร์ม สายการบิน-โรงแรม Q1 ฟันกำไรพุ่ง รับท่องเที่ยวฟื้น

ด้าน “SHR” บริษัทในเครือสิงห์ เอสเตท ซึ่งกำไรอยู่ที่ 125 ล้านบาท โดยโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศในทุกพอร์ตโฟลิโอ สอดรับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวโลก สำหรับโรงแรมในไทย มีอัตราการเข้าพักในช่วงไตรมาสแรกของปีเฉลี่ย 85% 

ทั้งสามารถปรับอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยรายวัน (Average Daily Rate: ADR) ได้เพิ่มขึ้นกว่า 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนเกิดโควิด-19 นอกจากนี้ผลประกอบการโครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ และพอร์ตโรงแรมที่สหราชอาณาจักร ยังส่งสัญญาณบวกเติบโตต่อเนื่อง

ส่วน “AWC” บริษัทอสังหาในเครือเจ้าสัวเจริญ ไตรมาสแรกปีนี้กำไรพุ่ง 1,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% และยังสูงกว่าปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วยโดยบริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนโรงแรมที่เปิดดำเนินการจาก 20 โรงแรมในปี 2565 เป็น 22 โรงแรม ในปี 2566 รวม 6,036 ห้อง

ปีนี้จึงถือเป็นปีเริ่มต้นที่ดีสำหรับธุรกิจสายการบิน และโรงแรม ที่จะกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง