ภญ.จิราภรณ์ ชุติมากุลทวี ผู้จัดการฝ่ายขายและโรงงาน บริษัท อาร์.เอส.โดเมสติกเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแป้งประกอบอาหาร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจในทุกภาคอุตสาหกรรมของปี 2568 ไม่คึกคักและค่อนข้างซบเซา อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่สถานการณ์ของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารค่อนข้างดี เพราะเป็นปัจจัย 4 ที่ผู้บริโภคต้องกินในทุกวัน อีกทั้งแบรนด์อาหารไทยส่วนใหญ่มีราคาเข้าถึงทุกได้เพศทุกวัย
“แม้ธุรกิจอาหารยังมีอัตราการเติบโตที่ดี แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปริมาณความต้องการของผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะร้านอาหารมียอดการสั่งซื้อสินค้าน้อยลงอย่างชัดเจน ปัจจัยหนึ่งอาจมาจากผู้บริโภคเริ่มซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารกินเองมากขึ้น ขณะเดียวกันกระแสการทำอาหารกินเองในโซเซียลก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดอาหารยังคงขยายตัว”
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นสำคัญสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตคือ เรื่องต้นทุนสูงที่เป็นปัญหาใหญ่ เริ่มมาตั้งแต่ต้นทุนค่าแรงตามนโยบายของรัฐบาลเมื่อช่วงต้นปี 2568 ที่ผ่านมา จนถึงต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ โดยไม่สามารถปรับขึ้นราคาหรือลดปริมาณสินค้าได้ เพราะต้องรักษาลูกค้าเอาไว้ทุกกลุ่ม
อย่างแบรนด์ครัววังทิพย์ต้องรัดเข็มขัดแน่นเต็มอัตราเพื่อควบคุมต้นทุนให้มากที่สุด รวมถึงพยายามใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในขบวนการผลิตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายภาษีศุลกากรของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกายังทำให้ตลาดโลกสะเทือนอีก
ภญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความไม่แน่นอนสูง กระทบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โชคดีทอาร์.เอส.โดเมสติกเทรดดิ้ง เป็นผู้ประกอบการ SMEs ขนาดกลาง มีตลาดหลักในประเทศกว่า 90% และต่างประเทศ 10% ในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) จีน ตะวันออกกลาง และยุโรป ถือว่าได้รับผลกระทบน้อย แต่จะต้องหันมาเดินหน้าแผนงานรุกตลาดในเอเชียให้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีวัฒนธรรมการกินที่คล้ายกันกับประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงนิยมการใช้วัตถุดิบอาหารทอด เช่น แป้ง แป้งทอดกรอบ เกล็ดขนมปัง
นอกจากนี้ แบรนด์ครัววังทิพย์ได้วางแผนการแปรรูปสินค้าเพิ่มเติมให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำเส้น หรือพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มยอดการเติบโตจาก โดยในปี 2567 มีรายได้จากผลประกอบการประมาณ 500 ล้านบาท ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2568 จะพยายามดันยอดการเติบโตให้ได้ 7-8% ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่อนข้างยากลำบาก
สำหรับปี 2568 งาน THAIFEX - ANUGA ASIA 2025 ยังคงมีกระแสตอบรับที่ดีเช่นเดียวกันกับปี 2567 ที่ผ่านมา บรรยากาศถือว่าคึกคักและได้รับการตอบรับในการเจรจาพอสมควร โดยเฉพาะประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง ที่ยังคงให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์อาหารในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเรื่องภาษีนำเข้าสำหรับผู้ประกอบการไทย ทั้งแนะนำนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ งานวิจัยต่างๆ เพื่อลดต้นทุนส่วนหนึ่ง สนับสนุนการทำเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพในอนาคต