กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ เร่งไทยเจรจาภาษี "ทรัมป์" ก่อนคู่แข่งชิงตลาดส่งออก

09 เม.ย. 2568 | 12:53 น.
อัปเดตล่าสุด :09 เม.ย. 2568 | 15:49 น.

เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยข้อจำกัดด้านวัตถุดิบทำธุรกิจอาหารสัตว์ในไทยโตเพียง 1.1% เร่งภาครัฐเจรจาลดภาษีลงให้มากกว่านี้ ก่อนไทยเสียประโยชน์ถูกคู่แข่งแซงหน้า

ในงานสัมมนาแบบประชุมโต๊ะกลม Roundtable "Trump's Global Quake: Thailand Survival Strategy เรื่องผ่ากำแพงภาษี “ทรัมป์” ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ: Out of The Trump's Uncertainty จัดโดยสื่อในเครือเนชั่น ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ และโพสต์ทูเดย์ ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ วันที่ 9 เมษายน 2568 ช่วงเสวนาหัวข้อ The Great Trade War: กลยุทธ์ไทยสู้ศึกสงครามการค้าโลก

นายสมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศไทยมีปริมาณการผลิต 21 ล้านตันต่อปี ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตราว 1.1% ต่อปีเท่านั้น เพราะข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ไม่มากพอ โดยสามารถผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออกได้เพียง 2% จากผลผลิตอาหารสัตว์ทั่วโลก 1,200 ล้านตัน

โดยวัตถุดิบอาหารสัตว์ในไทยมีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นปริมาณ 20 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นวัตถุดิบในประเทศ 40% เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว และวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ 60% เช่น เมล็ดถั่วเหลือง คาร์โบไฮเดรตอื่นๆ

วัตถุดิบเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปศุสัตว์กว่า 6 แสนล้านบาท นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้กว่า 1 ล้านล้านบาท และผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อการส่งออกราว 20% เป็นไก่แปรรูปและกุ้งแปรรูป มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท 

"ไก่แปรรูปและกุ้งแปรรูปเราส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา 25% เมื่อมีภาษี 36% ถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงกว่าคู่แข่ง ขณะที่อินเดียที่ถูกเก็บภาษีน้อยกว่าเราอยู่ที่ 30% ยังมีเอกวาดอร์ 18% และหากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามที่มีภาษี 46% ที่กำลังเจรจาลดภาษีอยู่ เจรจาสำเร็จก่อนไทยจะยิ่งทำให้การส่งออกกุ้งของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก"

กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ เร่งไทยเจรจาภาษี \"ทรัมป์\" ก่อนคู่แข่งชิงตลาดส่งออก

สำหรับวัตถุดิบอาหารสำคัญในธุรกิจอาหารสัตว์ของประเทศไทย ที่จะกระทบทั้งห่วงโซ่อาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดประมาณ 9.2 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตได้เพียง 4.7 ล้านตัน ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาจึงต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อแลกกับการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน

แต่หากไทยจะปลูกข้าวโพดเพื่อการส่งออกต้องพัฒนาระบบปลูกและพันธุกรรม (GMO) เพราะข้าวโพดของสหรัฐฯมีกำลังการผลิตต่อไร่สูงกว่าของไทยถึง 2.5 เท่า ทำให้ข้าวโพดไทยแข่งขันในตลาดลำบาก

ไทยมีข้อจำกัดเรื่องโควต้านำเข้าข้าวสาลี ซึ่งกำหนดให้ต้องซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อแลกกับการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ส่งผลให้มีการนำเข้าข้าวสาลีราว 1.6 ล้านตัน และนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมาอีกประมาณ 2 ล้านตัน ทั้งนี้ มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการเผาพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งทั้งไทยและเมียนมาต้องพัฒนาระบบปลูกโดยไม่เผาด้วย

นอกจากนี้ยังมีถั่วเหลือง ที่ทั่วโลกผลิตได้ 420 ล้านตัน ผู้ผลิตหลักคือบราซิล (160 ล้านตัน) และสหรัฐอเมริกา (118 ล้านตัน) โดยมีจีนเป็นผู้นำเข้าเป็นหลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของปริมาณการซื้อขายระหว่างจากจำนวนทั้งหมด และปัจจุบันบราซิลส่งถั่วเหลืองให้จีนถึง 60 ล้านตัน ส่วนสหรัฐส่งเพียง 30 ล้านตัน

ขณะที่ไทยนำเข้ากากถั่วเหลืองราว 6 ล้านตันต่อปี โดย 90% มาจากบราซิล และ 3-4% จากสหรัฐฯ หากไทยสามารถยกเลิกภาษีนำเข้า 2% ได้จะช่วยให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมสุกร ที่ความต้องการบริโภคเครื่องในของไทยและประเทศใกล้เคียงยังสูง ที่อาจส่งผลต่อการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ด้วย 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะนำเข้ามาหารสัตว์อีกเป็นจำนวนมาก และสามารถปรับเงื่อนไขการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ รวมทั้งแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือสินค้าประเภทข้าวที่ส่งไปสหรัญอเมริกา เพราะหากเวียดนามแก้ปัญหาเรื่องภาษีได้ก่อนไทยจะเสียประโยชน์ทันที ถ้าไทยจะแข่งขันในธุรกิจอาหารได้ต้องเจรจาลดภาษีลงให้มากกว่านี้