นายวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่และโฟรเซนโด (Dough) แบรนด์ศรีฟ้าและแบรนด์สุธีรา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วิเคราะห์ได้หลายมุมมอง หากรัฐบาลให้เป็นเงินสดประชาชนจะมีอิสระในการใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงในระดับหนึ่ง แต่ในเมื่อเป็นระบบดิจิทัลจึงทำให้เงินส่วนนี้ถูกบังคับจ่ายในระบบ ต้องเป็นผู้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชันเท่านั้น ฝั่งร้านค้าก็เป็นร้านขนาดใหญ่หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ เงินก้อนนี้จึงกลับไปสู่ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มนายทุนใหญ่อย่างรวดเร็ว ไม่สามารถกระจายไปถึงมือกลุ่มร้านค้ารายย่อยได้
ขณะเดียวกันการแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรกถือว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่หลังจากนั้นในกลุ่มที่มีกำลังซื้ออีกระดับคงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน โดยช่วงแรกอาจกระเตื้องเศรษฐกิจได้แต่กระตุ้นในระยะสั้นและระยะยาวไม่ได้ เพราะกลุ่มนี้จะมองหาสินค้าอุปโภคบริโภคระดับบน คล้ายกับเป็นการแจกเงินจากภาษีของประชาชนเพื่อนายทุนรายใหญ่
“ตอนนี้เหมือนคนไทยไม่ได้ถูกสอนให้รู้จักขยันทำมาหากินและสร้างงานสร้างอาชีพ แต่ถูกสอนให้รอรับจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างร้านแม่ค้าขายกล้วยทอด เคยขายกล้วยทอดมา 50 ปี ปัจจุบันก็ยังขายอยู่ที่เดิมและรอรับสวัสดิการของรัฐโดยไม่ดิ้นรนต่อยอดอาชีพตัวเอง และยังส่งต่อร้านให้ลูกหลาน แม้รสชาติจะอร่อยเป็นต้นตำหรับและมีลูกค้าเพิ่มขึ้นแต่ร้านกลับไม่เติบโตขึ้นเลย ทั้งที่กล้วยทอดสามารถพัฒนาไปจนถึงส่งออกไปขายต่างประเทศได้”
ทั้งนี้ โครงการอื่นๆ ของรัฐบาลที่เคยทำอย่าง “คนละครึ่ง” หรือโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็เป็นโครงการที่ไม่ต่างกันกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สนับสนุนประชาชนใช้จ่ายให้กับนายทุนรายใหญ่หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ประชาชนมีอำนาจการใช้จ่ายเกินตัวเพิ่มมากขึ้น เช่น หากใช้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน คนมักเลือกไปพักโรงแรมใหญ่ราคาสูงมากกว่าโรงแรมขนาดเล็ก เงินจึงไม่ค่อยหมุนเวียนไปถึงโรงแรมเล็ก
นายวิเชียร กล่าวว่า ปัญหาหลักสำหรับสังคมไทยกับนโยบายของภาครัฐในขณะนี้ คือ ประชาชนไม่มีความรู้ในการสร้างงานสร้างอาชีพและพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด การตลาด นวัตกรรม การผลิตและจัดเก็บวัตถุดิบ หากเจาะลึกเปรียบเทียบกันจะเห็นได้อย่างชัดเจนในระบบการศึกษาที่รัฐบาลสอนให้ท่องจำ ทำตามระบบแม่แบบที่ไม่เคยเปลี่ยนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่การเรียนการสอนในโรงเรียนนานาชาติปลูกฝังเด็กคิดเป็น กล้าทำ กล้าแสดงออกอย่างมีหลักและเหตุผล รู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
“การสร้างประชาชนให้ฉลาด รู้จักวิธีคิดและปรับตัวได้ สร้างอาชีพ สร้างเงิน สร้างเศรษฐกิจ ต่อยอดความคิด และต่อยอดเงินให้เติบโตขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจากระบบการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะแจกไปคนส่วนใหญ่คงไม่นำไปต่อยอด แต่จะนำไปใช้จนหมด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ยังมีปัญหาในด้านพลังงาน ไฟฟ้า และน้ำมัน ที่ราคาสูงขึ้นทุกปีเป็นต้นทุนค่าครองชีพสูงขึ้นอีก ทำให้กลุ่มเปราะบางมีความเปราะบางยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลไม่ได้สร้ารากฐานให้กับประชาชนเลย”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาทุนใหญ่ผูกขาดตลาดก็สำคัญ เป็นส่วนที่ทำให้ SMEs รายย่อยไปต่อไม่ไหว อย่างการนำเข้าส่งออกหรือเรื่องเงินบาทแข็งค่าก็มักจะไม่กระทบกับทุนใหญ่มากนัก อาจมีขาดทุนบ้างแต่ยังไปต่อได้ ฉะนั้นในระบบของประเทศไทยตอนนี้ คนรวยจะรวยขึ้น ส่วนคนจนจะจนลงไปอีก เรื่องนี้ทุกๆ ภาคส่วนต้องช่วยกันและสร้างคนสร้างระบบการศึกษาพื้นฐานก่อนเป็นลำดับแรก