เอกชนติงแจกเงินดิจิทัลไม่ยั่งยืน ปัดฝุ่น "คนละครึ่ง" มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย

19 ก.ย. 2567 | 10:38 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 10:41 น.

JSP ติงรัฐบาล แจกเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น ไม่ยั่งยืน ส่วนมาตรการ "คนละครึ่ง" มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่วน "เราเที่ยวด้วยกัน" ต้องสร้างแบรนด์ระยะยาว

นายพิษณุ แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  หรือ JSP แสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นโยบายแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบาง มองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้จริง แต่ผลกระทบระยะยาวอาจไม่ยั่งยืนเท่าที่ควร

นโยบายประชานิยม เช่น การแจกเงิน หรือมาตรการคนละครึ่ง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉีดยา ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระยะสั้น แต่เมื่อผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้หมดไป เศรษฐกิจก็อาจจะกลับมาซบเซาได้อีก

นายพิษณุ แดงประเสริฐ

ตัวอย่างนโยบายประกันราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว ซึ่งเป็นนโยบายที่เคยใช้มาแล้วในอดีต และพบว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

มองว่าความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น สมุนไพรไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดส่งออก

นอกจจากนี้การสนับสนุนในการสร้างแบรนด์และส่งเสริมสินค้าไทย เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ที่สำคัญของการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคตได้

มาตรการ "คนละครึ่ง" ที่อาจจะกลับมาในช่วงไตรมาส 4 มองว่า

1.ผลดี

  • ภาษีกลับเข้ารัฐ: หากมีการนำมาตรการคนละครึ่งกลับมา จะช่วยให้ภาษีที่ค้างชำระกลับเข้าสู่รัฐบาลได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
  • กระตุ้นกำลังซื้อ: มาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีรายได้เพิ่มขึ้น

2.ผลเสีย

  • ผลกระทบระยะสั้น: ผลดีที่เกิดขึ้นจากมาตรการนี้จะเป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว
  • ประสิทธิภาพของงบประมาณ: ใช้มาตรการนี้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ เนื่องจากผลประโยชน์ที่ได้รับอาจจะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องใช้

จากความเห็นมองว่ามาตรการคนละครึ่งเป็นมาตรการที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ยังมีความกังวลในเรื่องของประสิทธิภาพของงบประมาณ และความยั่งยืนของมาตรการนี้ จึงเห็นว่าควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะนำมาตรการนี้กลับมาใช้

"เราเที่ยวด้วยกัน" ต้องวางแผนระยะยาว สร้างแบรนด์ให้ดี

นายพิษณุ กล่าวว่า สำหรับการนำ “เราเที่ยวด้วยกัน” กลับมาใช้ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่มองว่าการท่องเที่ยวในปัจจุบันยังขาดการวางแผนและบูรณาการที่เป็นระบบ ทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว

"การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย เช่น มวยไทย, ยาดม, อาหารไทย เป็นต้น แต่การท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ททท. ควรบูรณาการการทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเสนอสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ"

อีกทั้งควรสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้นักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับไปเล่าขานถึงความประทับใจในประเทศไทย ปัจจุบันยังขาดการวางแผนระยะยาวในการสร้างแบรนด์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและจดจำในระดับสากล

และการเน้นการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์มากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดปัญหา เช่น การลดคุณค่าของวัฒนธรรมไทย, การทำลายสิ่งแวดล้อม และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายย่อย