นางสาวศวิตา เชยแจ้ง นักวิชาการแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไก่ทอดถือเป็นหนึ่งในหมวดหมู่อาหารฟาสต์ฟู้ดที่ได้รับความนิยม จาก Euromonitor International Limited
พบว่าในปี 2566 ตลาดไก่ทอดในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ถือเป็นตลาดที่แข็งแกร่งและเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยตลาดไก่ทอดในไทยถูกขับเคลื่อนโดยผู้เล่นรายใหญ่ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมถึงแบรนด์ท้องถิ่นอื่น ๆ
โดยผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดมาอย่างยาวนานนั้น ได้ใช้กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดในการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งพร้อมกับการปรับเมนูให้เข้ากับรสชาติและความต้องการของผู้บริโภคไทย ซึ่งทำให้แบรนด์กลายเป็นชื่อที่คุ้นเคยและเป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัยของผู้บริโภคในประเทศ
ล่าสุดเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมากับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของผู้เล่นใหม่ซึ่งเป็นแบรนด์ไก่ทอดสัญชาติจีนที่มีสาขามากกว่า 2 หมื่นแห่งในประเทศจีน และมีแผนขยายสาขาในไทยอย่างเต็มที่ ถือเป็นการเขย่าตลาดไก่ทอดในไทยให้กลับมาคึกคักขึ้น
การเข้ามาของแบรนด์ไก่ทอดสัญชาติจีนพร้อมกับกลยุทธ์การขยายแฟรนไชส์ในราคาที่ถูก และการใช้ประโยชน์จาก Economies of Scale หรือการประหยัดจากการผลิตในปริมาณมาก ทำให้สั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณมาก ด้วยต้นทุนต่อหน่วยลดลง และสามารถนำเสนอสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งได้
หนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้แบรนด์ไก่ทอดสัญชาติจีนนี้กลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวคือราคาสินค้าที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น ไก่กรอบสไปซี่ชิ้นเล็กราคาเริ่มต้น 15 บาท เฟรนช์ฟรายส์ ราคา 20 บาท หรือเบอร์เกอร์ไก่ที่เริ่มต้นราคาชิ้นละ 30 บาท
ซึ่งราคาต่ำกว่าเจ้าอื่นในตลาด และใกล้เคียงกับราคาไก่ทอดตามตลาดนัด ความสามารถในการเสนอราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญนี้ ทำให้แบรนด์ไก่ทอดสัญชาติจีนนี้กลายเป็นที่สนใจและมีโอกาสในการเจาะตลาดผู้บริโภคไทยได้อย่างรวดเร็ว
การขยายธุรกิจไก่ทอดจากประเทศจีนที่เน้นกลยุทธ์ราคาต่ำเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทย ผู้บริโภคย่อมได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในระยะสั้น เนื่องจากการลดราคาของสินค้าและบริการจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีราคาถูกลง แต่หากมองในระยะยาวอาจทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่เผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบากเนื่องจากความเหลื่อมล้ำด้านต้นทุน
“ผู้ประกอบการรายเล็กต้องลดราคาสินค้าของตนลงเพื่อคงลูกค้าไว้ หากไม่ปรับตัวให้ทันต่อการแข่งขัน ผู้ประกอบการรายเล็กอาจไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจากรายได้ที่ลดลงอาจไม่เพียงพอในการครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าสถานที่ และค่าแรงงาน ทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลงในที่สุด”
นางสาวศวิตา ยังระบุอีกว่า แม้ผู้ประกอบการไทยที่มีขนาดใหญ่มีและมีศักยภาพจะรับมือกับการแข่งขันได้ดีกว่า แต่สงครามราคาที่รุนแรงก็สามารถกดดันให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องลดราคาสินค้าของตนลงเพื่อต่อสู้กับคู่แข่ง สิ่งที่ตามมาคือกำไรต่อหน่วยจะลดลง และระยะยาวจะส่งผลต่อกำไรสุทธิและสุขภาพทางการเงินด้วย
การแข่งขันที่ดุเดือดและรุนแรงจะส่งผลให้ที่สุดแล้วตลาดไก่ทอดจะเหลือเพียงผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่ราย ที่อยู่รอด นั่นหมายถึงตลาดจะขาดความหลากหลายและการแข่งขันในอนาคต รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อตลาดไก่สดและผู้เลี้ยงไก่
หากมีการนำวัตถุดิบเช่น ไก่สดหรือไก่สดแช่แข็งมาจากจีน สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าอื่นๆ เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่เกิดกับตลาดไอศกรีมและขนมหวานจากการเข้ามาของแบรนด์ไอศกรีมรายใหญ่จากจีน ที่ทำให้ภูมิทัศน์ตลาดนั้นๆ เปลี่ยนไป”
หน้า 16 ฉบับที่ 4,024 วันที่ 5 - 7 กันยายน พ.ศ. 2567