ไตรมาส1 สัญญาณดี ‘Easy e-Receipt - ต่างชาติ’ ฟันเฟืองดัน ‘เอกชน’ แห่เมคมันนี่

21 ม.ค. 2567 | 02:50 น.

เอกชนมั่นใจไตรมาส 1 โตดี “ค้าปลีก” ชี้ช่วงเวลาน้ำขึ้นให้รีบตัก ช้อปลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt ปลุกกำลังซื้อคึกคัก สินค้าชิ้นใหญ่ทั้งดิจิทัล เครื่องใช้ไฟฟ้ารับทรัพย์ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติพาเหรดเข้าเพิ่ม ทั้งกิน เที่ยว ช้อป และเมดิคัล ทัวริสซึม

KEY

POINTS

  • ค้าปลีกไตรมาสแรกโตแรงต่อเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ ต่อด้วยEasy e-Receipt  และตรุษจีน ผนวกนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย ที่เพิ่มขึ้น 
  • Easy e-Receipt ดันตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าคึกคัก ทำ 3 กลุ่มสินค้าขายดี กลุ่มทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านขนาดใหญ่ และแกดเจ็ต

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่เชื่อมั่นว่าจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก แต่ดูเหมือนว่าปัจจัยที่หลายฝ่ายมองว่าจะผลักดันให้เกิดการจับจ่าย และเป็นผลบวกต่อภาคเศรษฐกิจ กลับไม่เป็นดังคาด ขณะที่การลงทุนใหม่ยังมีภาพที่ไม่ชัดเจน การประมาณการณ์ในไตรมาส 1 จึงอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ภาคเอกชนต้องทำงานหนักขึ้น

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของธุรกิจค้าปลีกถือเป็นช่วงเวลาน้ำขึ้นให้รีบตัก เนื่องมาจากเป็นช่วงเวลาของฤดูกาลท่องเที่ยว ที่ต่อเนื่องมาจากคริสต์มาส เทศกาลปีใหม่ รวมถึงตรุษจีน มาปัจจัยสนับสนุนนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและมาเลเซีย โดยมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น 1.6 หมื่นคนต่อวัน

ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา

อีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงไตรมาสแรกได้ดีคือโครงการจากทางรัฐบาลที่เรียกได้ว่า “ถูกเวลา” อย่าง Easy e-Receipt นโยบายของรัฐบาลถือว่ามาในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คาบเกี่ยวเทศกาลสำคัญที่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้มากขึ้น ในส่วนของห้างเซ็นทรัลที่ครองใจนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติตบเท้าเข้าช้อปมากที่สุด ได้แก่ เซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลเวิร์ลด์ และเซ็นทรัลลาดพร้าว ในส่วนของโครงการ Easy e-Receipt คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอาง และ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ราคาสูง

สอดรับกับนางมัลลิกา เหลืองนิมิตรมาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า เทรนด์การจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบัน ลูกค้าไม่ได้มองแค่เรื่องราคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตนเอง รวมไปถึงการให้บริการของร้านค้าทั้งในช่วงการตัดสินใจซื้อและในช่วงหลังการขายถือเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่ผู้บริโภคมีความคาดหวังเพิ่มขึ้น

สำหรับกำลังซื้อในช่วงต้นปี ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าค่อนข้างคึกคัก เพราะมีนโยบายภาครัฐ มากระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง อาทิ Easy e-Receipt, กฟผ ประหยัดไฟเบอร์ 5 อีกทั้งลูกค้าจะได้ประโยชน์จากทางห้างที่ทำโปรโมชั่น on top ต่างๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1 ที่ครอบคลุมหลายเทศกาลสำคัญ ทั้งเทศกาลปีใหม่ วันเด็ก ตรุษจีน และวันวาเลนไทน์ โดยกลุ่มสินค้าขายดี 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดใหญ่ และกลุ่มสินค้า แกดเจ็ต ตามลำดับ

ไตรมาส1 สัญญาณดี ‘Easy e-Receipt - ต่างชาติ’ ฟันเฟืองดัน ‘เอกชน’ แห่เมคมันนี่

“ถ้ามองในมุมผู้ประกอบการ คาดหวังว่าโครงการ Easy e-Receipt จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น และซื้อมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้เพิ่มมูลค่าที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 5 หมื่นบาท สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเป็นสินค้าอันดับต้นๆ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการเลือกซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความคุ้มค่าในการลดหย่อนภาษี ส่งผลให้มียอดซื้อต่อคนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

ขณะที่นางสาวอัญชลี ตันติวงษากิจ กรรมการผู้จัดการ ห้างกรุงทองพลาซา กล่าวว่า ไตรมาส 1 นี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 300 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะมีรายได้ 500 ล้านบาท เติบโต 30% จากยอดขายในไตรมาสถัดไปให้เติบโตตามเป้าหมาย โดยมีปัจจัยบวกที่ยังคงอยู่ในช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว

เพราะนอกจากมีลูกค้าคนไทยแล้วยังมีลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ สินค้าเสื้อผ้าในห้างกรุงทองไม่ได้มีแต่ตลาดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่มีทุกไซ์ตั้งแต่ XS-6XL ตลาดค่อนข้างกว้าง และในอนาคตจะพัฒนาปรับเพิ่มไซซ์ให้ถึง 8XL ส่วนปัจจัยลบคือเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ

อัญชลี ตันติวงษากิจ

สำหรับกลยุทธ์ในการเติบโต จะมุ่งเน้นพัฒนาการตลาดแบบ 360 องศา ตั้งเป้าหมายเป็น Top of Mind ของสาวพลัสไซซ์ทั่วเอเชีย ซึ่งมีผลต่อยอดขายและอัตราการเช่าพื้นที่เต็มทั้งหมดตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 เพราะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 50% เฉลี่ยในวันธรรมดา 1 หมื่นคนต่อวัน ส่วนช่วงวันหยุดอาจจะสูงถึง 2 หมื่น คนต่อวัน การจับจ่ายแบบค้าปลีกของแต่ละคน 2,000-3,000 บาทต่อครั้ง และลูกค้าแบบค้าส่งประมาณ1 หมื่นบาทต่อครั้ง

นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ทำ Content Marketing ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ จากผู้ใช้บริการจริง การรีวิวของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, TikTok และ YouTube เพื่อให้คอนเทนต์ให้เป็นที่พูดถึงในกลุ่มเป้าหมาย และดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Generation Y และ Z ที่เติบโตมาพร้อมกับยุคดิจิทัล

“ตอนนี้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังเป็นคนไทย 70% ต่างชาติประมาณ 30% ในปีนี้ก็อยากเพิ่มกลุ่มลูกค้าต่างชาติให้เพิ่มขึ้นถึง 60% โดยคำนึงถึงความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนามากขึ้น อาทิ มาเลเชีย สิงคโปร์ ฟิลิปินส์ อินโดเนเซีย ประเทศทั้งหมดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอ็มดิสทริค และประธานคณะกรรมการ บริษัท THE EMLIVE กล่าวว่า ภาพรวมค้าปลีกและกำลังซื้อในไตรมาส 1 นี้เชื่อว่ามีแนวโน้มดี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายส่งผลให้ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ประกอบกับยังอยู่ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ทำให้ช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้าและบริการเป็นอย่างมาก

เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ

ส่วนกำลังซื้อทุกคนก็อยู่ในช่วงเทศกาลหลาย ๆ ก็อยากต้องการใช้เงินในปัจจัยต่าง ๆ อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ประกอบกับปีนี้มั่นใจได้ว่าเป็นปีทองของการท่องเที่ยว เชื่อว่ากำลังซื้อในปีนี้ครึกครื้นอย่างแน่นอน

นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต จำกัด กล่าวว่า ในเดือนมกราคมมีคนไข้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งโรงพยาบาลเทพธารินทร์และโรงพยาบาลวิมุต

นายแพทย์พิชิต กังวลกิจ

โดยปีก่อนมีรายได้อยู่ 2,000 ล้านบาท เติบโต 8 - 10% แต่ปีนี้มองว่าอาจจะเติบโตประมาณ 6% ถึงภาพรวมจะมีการเติบโตที่น้อยกว่าปีก่อน แต่มั่นใจว่าปีนี้จะดีกว่าปีก่อน เนื่องจากคนไข้ต่างชาติกลับมา และในปีนี้วางแผนที่จะผลักดันนวัตกรรม เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีคนไข้ต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น 80%

ขณะที่นายไดสุเกะ มุราคามิ ประธานบริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ความท้าทายที่ผู้ประกอบการเครื่องปรับอากาศต้องเผชิญในปีนี้ คือการแข่งขันในตลาดเครื่องปรับอากาศราคาถูกจากประเทศจีนที่เติบโตมากขึ้น ในช่วงไตรมาสแรกถือเป็นระยะเวลาวัดใจ ถึงอย่างไรยังเชื่อมั่นว่าไดกิ้นตั้งเป้าเติบโต 22% เนื่องจากอุณหภูมิประเทศไทยสูงที่นานกว่าปกติรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ถูกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศบ่อยขึ้นว่า 10 ปีก่อน

ไตรมาส1 สัญญาณดี ‘Easy e-Receipt - ต่างชาติ’ ฟันเฟืองดัน ‘เอกชน’ แห่เมคมันนี่

“ไตรมาสแรกนี้ ไดกิ้นบุกตลาดโดยการใช้โซลูชั่น Full Solution เข้ามาแข่งขันพร้อมทั้งทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทั้งเครื่องปรับอากาศสำหรับที่อยู่อาศัย และเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าทั้งปีเติบโตกว่าปีก่อน 20% ในปีนี้เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์จะมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการเติบโตของธุรกิจโรงแรม และห้างสรรพสินค้า”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,959 วันที่ 21 - 24 มกราคม พ.ศ. 2567