“หม่าล่า-ปิ้งย่าง” โตแรง 6 เดือนร้านอาหารเกิดใหม่ ทะลุหลักแสน

20 ส.ค. 2566 | 05:52 น.

ธุรกิจร้านอาหาร 4.25 แสนล้านคึกคัก เผย 6 เดือนแรกร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 13.6% หรือกว่า 1 เเสนร้าน จับตา 2 เซ็กเม้นท์มาแรงโตก้าวกระโดด “ร้านอาหารจีนหม่าล่า-ปิ้งย่าง” ส่งผลบิ๊กเนมแห่ร่วมชิงแชร์ ขณะที่ “ชาบู-สุกี้” ยังสดใส ครองเมนูขวัญใจนักชิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินธุรกิจร้านอาหารปี 2566 เติบโตแบบชะลอตัว การฟื้นตัวโดยรวมยังมีความเปราะบางจากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้มและค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานโลกส่งผลให้ในปี 2565 ที่ผ่านมาต้นทุนธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย14% นำมาซึ่งปรากฏการณ์ปรับขึ้นราคาอาหารเฉลี่ยถึง 10%

ขณะเดียวกันการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารยังนับว่าอยู่ในระดับที่สูง จากพฤติกรรมของผู้บริโภคมีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีทางเลือกหลากหลายขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง คาดว่าปี 2566 มูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารน่าจะอยู่ที่ราว 4.18-4.25 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.7%-4.5% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 12.9% ในปี 2565

เซ็กเมนต์ที่มีการเติบโต และขยายตัวอย่างคึกคักคือ “ตลาดปิ้งย่าง” คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดกว่า 9,000 ล้านบาทขณะที่ตลาดชาบู-สุกี้ในไทย มีมูลค่ารวมกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท และเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ทั้ง 2 ตลาด แต่ขณะเดียวกันยังเป็นเซ็กเม้นท์ที่ผู้บริโภคนิยม สะท้อนผ่านการเติบโตอย่างอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี โดยเฉพาะช่วงหลังจากโควิด

“หม่าล่า-ปิ้งย่าง” โตแรง 6 เดือนร้านอาหารเกิดใหม่ ทะลุหลักแสน

สอดรับกับข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai ที่ระบุว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารไทยใน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 13.6% หรือราว 1 เเสนร้าน จากจำนวน 598,693 ร้าน เป็น 680,190 ร้าน ประเภทร้านอาหารเปิดใหม่ที่เติบโตสูงสุด ได้เเก่ ร้านอาหารเช้า ร้านอาหารจีน และร้านสุกี้ยากี้ ชาบู ตามลำดับ นอกจากนี้สุกี้และหม่าล่ายังติด Top 5 เทรนด์ที่ถูกค้นหามากที่สุด +20.6% และ+19.8% ตามลำดับอีกด้วย

จากความนิยมในอาหารจีนและหม่าล่าทำให้เชนร้านอาหารใหญ่ๆ โดดลงแจมตลาดนี้คึกคักทั้งเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด ที่ดึงแบรนด์ “ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศจีนและสิงคโปร์เข้ามาบุกตลาดร้านอาหารจีนในไทย โดยนำร่องเปิด 2 สาขาที่เซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัลพระราม 9

ซึ่ง “ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า การเข้ามาครั้งนี้เพราะตลาดร้านอาหารจีนมีความคึกคักมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอาหารประเภทเสฉวน หม่าล่า รวมทั้งชาบูและปิ้งย่างที่มีการเติบโตค่อนข้างสูงในกลุ่ม Gen Z, นักศึกษา และคนเริ่มทำงาน ทำให้มูลค่าตลาดไต่ขึ้นมาอยู่ที่ 5,000-6,000 ล้านบาท และมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก

“หม่าล่า-ปิ้งย่าง” โตแรง 6 เดือนร้านอาหารเกิดใหม่ ทะลุหลักแสน

“ตลาดร้านอาหารจีนขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการรายเล็กที่เปิดแบรนด์ละ 2-3 สาขา ยังไม่ค่อยมีเชนใหญ่ลงมาเล่นมากนัก ดังนั้นการแข่งขันยังไม่นับว่าดุเดือดมาก ซึ่งเรามองว่าตลาดยังเติบโตได้อีกเยอะและเป็นโอกาสเพราะว่าตลาดนี้กำลังมา เราตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่อย่างน้อย 10 สาขาใน 3-4 ปี”

ขณะที่ “ยูซุ กรุ๊ป” (YUZU GROUP) เชนร้านอาหารระดับพรีเมียม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มร้านอาหารของคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่มีสาขาอยู่กว่าสิบแห่ง ทั้งในร้านอาหารญี่ปุ่น และอาหารเกาหลี ล่าสุดก็เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “ต้า เจิ้ง” (DA ZHENG) หม้อไฟสไตล์จีนต้นตำรับ ออกมารับกระแสหม่าล่าฟีเวอร์เช่นกัน

โดยนายปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร Founder & CEO บริษัท ส้มพาสุข จำกัด หรือ YUZU GROUP ให้เหตุผลว่า ต้องยอมรับว่ากระแสหม่าล่า หรือหม้อไฟสไตล์จีนได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย และมีแนวโน้มเติบโตอีกมากเพราะเป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้าเดิมทั้งคนจีนที่อยู่ในประเทศไทยทั้งกลุ่มนักลงทุนกับกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มคนไทยที่ชื่นชอบอาหารจีนประเภทหม่าล่าหม้อไฟ บริษัทจึงขยายพอร์ตสู่กลุ่มอาหารจีนเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาการเเข่งขันในตลาดร้านอาหารที่ดุเดือดแล้ว ธุรกิจร้านอาหารยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าและต้นทุนเเรงงาน ที่สูงขึ้นกินสัดส่วน รวมไปถึงจำนวนร้านคู่เเข่งเพิ่มขึ้นสวนทางจำนวนลูกค้าประจำและลูกค้าใหม่ลดลง โดยร้านอาหาร 1 ร้านจะต้องเเบกต้นทุนหลักๆ คือ วัตถุดิบมากกว่า 25-30% ต้นทุนแรงงาน 20-25% และค่าเช่า 20-30%

“หม่าล่า-ปิ้งย่าง” โตแรง 6 เดือนร้านอาหารเกิดใหม่ ทะลุหลักแสน

ที่สำคัญคือการเผชิญหน้ากับการรุกคืบของทุนจีนโดยเฉพาะ “จีนเทา” ที่เข้ามาเบียดส่วนแบ่งการตลาดอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะย่านห้วยขวาง เยาวราช สำเพ็ง และสามย่าน โดยร้านอาหารนายทุนจีนที่นิยมมาเปิดมากสุด คือ ปิ้งย่าง-ชาบู หม่าล่า ที่เข้ามาแย่งชิงความนิยมไปจาก “หมูกระทะ” ที่เคยฮอทฮิตติดลมในช่วงก่อนหน้านี้

นายศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารร้านอาหาร ชินคันเซน ซูชิ และ นักล่าหมูกระทะซึ่งปัจจุบันเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของเชนใหญ่อย่าง “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป” หรือ CRG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมครึ่งปีแรกอุตสาหกรรมอาหารปิ้งย่าง ชาบูมีทิศทางที่ดี มีอัตราการเติบโตกว่า 50% เมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่แล้ว บวกกับเทรนด์ปิ้งย่าง ชาบูบุฟเฟ่ต์และสุกี้สไตล์จีนที่เปิดใหม่จำนวนมากทำให้ตลาดเติบโตกว่าเดิมเยอะ

ส่วนภาพรวมครึ่งปีหลังคาดว่าตลาดน่าจะยังเติบโตแต่จะเป็นการเติบโตในอัตราที่ช้าลง เพราะตอนนี้มีผู้เล่นเข้ามาในธุรกิจนี้เยอะมากทั้งปิ้งย่าง โดยเฉพาะชาบูที่มีเปิดใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผู้เล่นรายใหม่ที่เป็นแบรนด์ไทยยังไม่น่าห่วงและไม่สร้างผลกระทบกับผู้เล่นเดิมมากนักเพราะโดยปกติแล้วหากตลาดเติบโตธุรกิจจะเติบโตตามไปด้วย ในทางกลับกันสิ่งที่น่ากังวลคือคู่แข่งที่เป็นแบรนด์จีนหรือทุนจีนที่ไม่ได้เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย จะกระทบต่อผู้ประกอบไทยและตลาดรวมอย่างเห็นได้ชัด

“หม่าล่า-ปิ้งย่าง” โตแรง 6 เดือนร้านอาหารเกิดใหม่ ทะลุหลักแสน

“ถ้าแบรนด์จีนหรือทุนจีนเข้ามาแบบไม่ถูกต้อง อย่างที่เห็นในปัจจุบันคือเจ้าของเป็นทุนจีน พนักงานคนจีน วัตถุดิบนำเข้าจากจีนซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ถูกกฎหมายแต่จะทำให้ร้านเหล่านี้ควบคุมต้นทุนได้ดีกว่า เหมือนเข้ามาแข่งกับคนไทยโดยตรงเพราะฉะนั้นจะกระทบทั้ง ecosystem ทั้งการจ้างงานคนจีนด้วยกัน-วัตถุดิบนำเข้าจากจีน ส่วนลูกค้าเป็นคนจีนด้วยกันและถ้าลูกค้าคนไทยเข้าไปกินเงินก็จะไหลออกต่างประเทศ เม็ดเงินไม่ได้หมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทย”

อย่างไรก็ตามสำหรับทุนจีนที่ไม่ได้เข้ามาถูกกฎหมาย ปัจจุบันยังไม่เห็นการจัดการอย่างจริงจังและยังมีร้านใหม่เปิดอย่างต่อเนื่อง โมเดลในการขยายตัวของร้านเหล่านี้จะไม่เห็นมุมของการขยายสาขาจำนวนเยอะๆเพราะโจ่งแจ้งเกินไป แต่จะเป็นการขยายธุรกิจในลักษณะของใช้หลายชื่อแต่เป็นเจ้าของเดียวกัน และโดยส่วนใหญ่จะเน้นจับลูกค้าคนจีนด้วยกัน แต่มีลูกค้าคนไทยเข้าไปใช้บริการจำนวนไม่น้อยเพราะมองว่ามีความเป็น Original อย่างไรก็ตามหากเป็นทุนจีนหรือแบรนด์ที่เข้ามาทำธุรกิจอย่างถูกต้องก็จะเป็นการช่วยผลักดันให้ภาพรวมของเซ็กเม้นท์ปิ้งย่างชาบูเติบโตไปด้วยกันได้

ในส่วนของ “นักล่าหมูกระทะ” อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของทุนจีนในตลาดปิ้งย่าง ชาบูมากนักเพราะแบรนด์จีนส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นร้านสไตล์จีน แต่ “นักล่าหมูกระทะ” เป็นสไตล์ไทย ส่วนประเด็นของต้นทุนวัตถุดิบที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ตอนนี้นับว่าสถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี แต่ภาพรวมยังนับว่าทรงๆและยังพอไปได้ไม่ได้กระทบถึงขั้นต้องขึ้นราคาอาหาร

แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 3 เริ่มเห็นสัญญาณของกำลังซื้อที่ลดลงด้วยสภาพเศรษฐกิจและหลักๆคือประเด็นด้านการเมืองทำให้กำลังซื้อค่อนข้างลดลง ส่วนในไตรมาสที่ 4 หากการเมืองนิ่งๆ กำลังซื้อต่างๆ ก็น่าจะกลับมาดีขึ้นประกอบกับแรงหนุนช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงเทศกาล ซึ่งโดยปกติแล้วยอดขายมักจะโตแบบก้าวกระโดด

“ในส่วนของ “นักล่าหมูกระทะ” มีการเติบโตขึ้นมาประมาณ 10% และหลังจากเราขยายเพิ่มอีก 2 สาขาในปีนี้ทำให้การเติบโตโดยรวมกระโดดขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 70% และในครึ่งปีหลังนี้เราจะเปิดนักล่าหมูกระทะเพิ่มอีก 4 สาขา ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,914 วันที่ 17 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2566