"องค์กรต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมาย" ชี้ธุรกิจอาเซียนทำการผิดก.ม. อื้อ

10 มิ.ย. 2566 | 12:00 น.

องค์กรต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมาย (TRACIT) ร่วมกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) ชี้อาเซียนเผชิญการค้าผิดกฎหมายยกแผงทั้งอาหาร เกษตร แอลกอฮอล์ ประมง ป่าไม้ ปิโตรเลียม ยา โลหะมีค่าและอัญมณี ยาฆ่าแมลง ยาสูบ สัตว์ป่า กระทบทางลบต่อภาคเศรษฐกิจ

องค์กรต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมาย (TRACIT) ร่วมกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ “การตรวจสอบผลกระทบเชิงลบของการค้าที่ผิดกฎหมายต่อวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025”  ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน พร้อมแนะผู้นำอาเซียนเร่งจัดลำดับความสำคัญของมาตรการเพื่อต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาค

นายเจฟฟ์ ฮาร์ดี ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมาย (TRACIT)

นายเจฟฟ์ ฮาร์ดี ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมาย (TRACIT) กล่าวว่า การค้าที่ผิดกฎหมายกำลังทำให้เป้าหมายของอาเซียนล้มเหลวในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งผลกระทบต่อการพยายามเพิ่มการสร้างงานและรายได้ ลดความยากจน และบรรลุมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ทำให้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนมีความเสี่ยง เนื่องจากการค้าผิดกฎหมายเป็นที่รู้กันดีว่าบ่มเพาะความรุนแรงในกลุ่มอาชญากรบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในสถาบันและหลักนิติธรรม ทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขัดขวางการสร้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและการเก็บภาษี และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค และทำให้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนมีความเปราะบาง เนื่องจากผลกระทบของการค้าที่ผิดกฎหมายต่อสิ่งแวดล้อม และการเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน

"ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ปัญหาระหว่างประเทศไทยและ EU เท่านั้น แต่การนำเข้าส่งออกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั่วโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อทั้งด้านเศรษฐกิน สังคม ต่อทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้นการแก้ปัญหาไม่ควรเป็นหน้าที่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ควรเป็นความร่วมมือของทุกประเทศ และรัฐบาลควรเข้ามาดูแลปัญหานี้อย่างจริงจัง และนอกจากนี้ ภาคเอกชน เข้าของธุรกิจ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ก็ควรมีส่วนร่วมในการระบุปัญหา เสนอแนะ และหาวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

ปัญหาหลักที่พบคือเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่รับทราบถึงปัญหาการนำเข้าส่งออกที่ผิดกฏหมาย แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องกำลังคน และความเชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่แต่ละภาคส่วนมีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบสินค้าแต่ละชนิดที่แตกต่างกัน และบางครั้งไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง

 

ดังนั้น จึงควรมีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รวมไปถึงให้การฝึกสอนการตรวจับให้ทั่วถึง ที่สำคัญคือ การให้ข้อมูล หรือการแจ้งการกระทำผิดกฏหมายส่วนใหญ่ มาจากผู้ประกอบการที่ต้องการการช่วยเหลือ และหน้าที่เหล่านี้ไม่ควรตกไปเป็นของผู้ประกอบการอย่างเดียว ดังนั้นจึงควรมีการประสานงานของภาครัฐและเอกชน ให้สามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้อย่างทั่วถึง "

นายคริส ฮัมฟรีย์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC)

นายคริส ฮัมฟรีย์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) กล่าวว่า “การค้าที่ผิดกฎหมายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาค คำแนะนำในรายงานนี้สามารถช่วยให้อาเซียนสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการบรรลุเป้าหมายที่ระบุไว้ในวิสัยทัศน์ 2025 รัฐบาลในภูมิภาคจำเป็นต้องดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ และทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพื่อลดและขจัดผลกระทบด้านลบของการค้าที่ผิดกฎหมายต่อการดำรงชีวิต สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงการจ้างงาน และการจัดสรรรายได้ของรัฐบาล”