เปิดแนวโน้มอุตสาหกรรมความงามเซกเมนต์ไหนได้ไปต่อ

29 เม.ย. 2566 | 22:22 น.

"ลอรีอัล" ชี้เทรนด์อุตสาหกรรมความงามทั่วโลกโตต่อเนื่องมูลค่าตลาดรวมแตะ 2.5 แสนล้านยูโร กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวยังครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 41% เตรียมนำ Green Sciences พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ลงตลาด

แนวโน้มอุตสาหกรรมความงามยังโตน่าสนใจ มูลค่ารวมแตะ 2.5 แสนล้านยูโร หรือราว 9.4 ล้านล้านบาท โดยตลาดความงามไทยยังครองอันดับต้นๆ ในภูมิภาค SAPMENA (เอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาเหนือ) จากการขยายตัวของชนชั้นกลาง  ลอรีอัล (ประเทศไทย) ชิงมาร์เก็ตแชร์เพิ่ม 2 หลัก เตรียมผุดผลิตภัณฑ์ใหม่จาก  Green Sciences เด้งรับเทรนด์ความยั่งยืน

นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา
นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั้งผู้หญิงและผู้ชายให้ความสนใจความงามในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้ชายอาจยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควรซึ่งเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมพอสมควร อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านตลาดยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5% ทุกปี ก่อนจะเติบโตลดลงในช่วงโควิด

แต่ในปี 2565 ที่ผ่านมาตลาดความงามทั่วโลกเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้งโดยเติบโตเฉลี่ย 6 % ด้วยมูลค่าตลาดรวม2.5 แสนล้านยูโร หรือราว 9.4 ล้านล้านบาท ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวยังครองส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด 41%  รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 22%,เมคอัพ 16 % ,น้ำหอม 11%  โดยประเทศไทยมีขนาดตลาดและเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค SAPMENA (เอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาเหนือ)

เปิดเผยแนวโน้มอุตสาหกรรมความงาม 2566 เซกเมนต์ไหนได้ไปต่อ

สำหรับภาพรวมตลาดความงามในประเทศไทยปี2565 มีมูลค่าราวๆ 1.49 แสนล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีสัดส่วน 60% ผลิตภัณฑ์ดูแลผม 20% เครื่องสำอาง 14% และน้ำหอม 6%  โดยมีแนวโน้มเติบโตสองหลักจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับการดูแลผิวและชอบลองนวัตกรรมใหม่ๆ บวกกับชนชั้นกลางเติบโตขึ้นทั่วโลก คาดว่าในสิ้นปี 2030 จะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น 800 ล้านคน

และอีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของความกระหายของผู้บริโภคที่มองหาคุณภาพ และผลิตภัณฑ์ความงามที่มีประสิทธิภาพและมีส่วนช่วยบำรุง ลดเลือนริ้วรอย และทุกคนพร้อมที่จะใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น 

 

โดยในปี 2565 ลอรีอัล ประเทศไทย สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากหลายแบรนด์และเติบโตภาพรวมด้วยเลขสองหลัก ครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง นำโดยแบรนด์การ์นิเย่ (Garnier) ที่เป็นแบรนด์ความงามและดูแลผิวอันดับ 1 ในประเทศไทย และ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก (Maybelline New York) อันดับ 1 ในกลุ่มเมคอัพ ในส่วนกลุ่มน้ำหอมนั้นลอรีอัล ได้เติบโตก้าวสู่อันดับ 2 ด้วยน้ำหอมจากแบรนด์ จาก อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (Yves Saint Laurent Beauté) ลังโคม (Lancôme) และ อาร์มานี (Giorgio Armani) จากแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง  นอกจากนี้แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ที่มีแบรนด์ ลา โรช-โพเซย์, วิชี่ และเซราวี ยังสร้างปรากฏการณ์ในการเป็นแผนกที่มีการเติบโตสูงที่สุดในบริษัทถึง 2 เท่าในระยะเวลาเพียง 3 ปี และได้มีการเปลี่ยนชื่อแผนกเป็น L’Oréal Dermatological Beauty จากเดิมคือ L’Oréal Active Cosmetics เพื่อสะท้อนพันธกิจในการส่งมอบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิวที่ดีพร้อมช่วยดูแลปัญหาโรคผิวหนัง

 

ทั้งนี้ รอลีอัล ได้นำGreen Sciences มาใช้ในการวิจัยสูตรผลิตภัณฑ์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนสำหรับปี 2030 เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมโลก  โดยเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติถึง 61% และตั้งเป้าสู่ 95% ภายในปี 2030 

 

นอกจากนี้ยังผสานอุตสาหกรรมความงามเข้ากับเทคโนโลยี AI และ Data เพื่อกำหนดอนาคตอุตสาหกรรมความงาม รวมทั้งส่งเสริมความหลากหลายด้วยแนวคิด “Beauty for Each” ความงามที่เข้าถึงและตอบโจทย์ผู้บริโภคจากทั่วโลกที่มีภูมิหลัง วัฒนธรรม และความต้องการอันหลากหลาย และทุ่มทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากกว่า 1,000 ล้านยูโร ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า 3% ของรายได้ต่อปี เพื่อนำเสนอนวัตกรรมความงามอันล้ำสมัยออกสู่ท้องตลาด โดยได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วทั้งสิ้น 561 ชิ้น จนสามารถขึ้นเป็นผู้นำด้าน “Beauty Tech” โดยนำเสนอเทคโนโลยีด้านความงามกว่า 15 บริการแก่ผู้บริโภคชาวไทย ผ่านจุดขายและทางออนไลน์ การสร้างความบันเทิงและการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลด้วยแคมเปญที่เป็น Talk of the Town และรวมไปถึงการพัฒนาทักษะบุคลากรและเครื่องมือเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรขับเคลื่อนด้วย Data

 

“เรามีการลงทุนด้านดิจิทัลมาเป็น 10 ปี ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถยืนอยู่เบอร์นี้ได้ แต่ปัจจุบันเรามีความชัดเจนมากขึ้นเพราะ Data และAI ทุกวันนี้มีความซับซ้อนขึ้น มีความง่ายสำหรับผู้ใช้แต่ยากสำหรับคนทำ นอกจากนี้ในปีนี้เรายังมีความกังวลเรื่องสถานการณ์ในประเทศ เพราะปีไหนที่มีการเลือกตั้งในประเทศไทยมักจะมีการประท้วง มีการคัดค้าน รวมถึงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ยังเป็นปัญหาตลอดเวลาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่ตลอด 

เพราะฉะนั้นเราจะเป็นไดโนเสาร์อย่างเดียวไม่ได้เราต้องเป็นยูนิคอร์นด้วยและเราจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและไวในการจัดการกับปัญหาและความท้าทายซึ่งเราจะต้องพิจารณาปัจจัยทางบวกและลบด้วย”