บิ๊กเนมตั้งรับ “ภาษีความหวาน” ปั้น“เครื่องดื่มไร้น้ำตาล”ลงเชลฟ์

31 มี.ค. 2566 | 19:35 น.

เคาะภาษีน้ำตาลฉบับใหม่ 1 เมษายน ไร้ผลกระทบอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เหตุผู้ประกอบการปรับแผนลดแรงกระแทกล่วงหน้า หันปั้นพอร์ตหวานน้อย 0 แคลอรี่ เกาะกระแสรักสุขภาพแน่นตลาด

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องตามองเป็นพิเศษ สำหรับมาตรการจัดเก็บภาษีความหวานหรือการจัดเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ที่เริ่มเก็บตั้งแต่ 1 เมษายน 2566 - 31 มีนาคม 2568 นี้มีอัตราเก็บภาษีดังนี้

บิ๊กเครื่องดื่มตั้งรับ “ภาษีความหวาน” ปั้น“เครื่องดื่มไร้น้ำตาล”ลงเชลฟ์

  • ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร 
  • ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร 
  • ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร 
  • ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร 
  • ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร 

ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. ที่เห็นชอบ วันที่ 1 ต.ค. 65-31 มี.ค. 66 ที่ผ่านมาโดยให้เหตุผลของการเพิ่มภาษีความหวานนี้ว่า ต้องการดูแลสุขภาพของไทยให้ห่างไกลจากโรคอ้วน เบาหวานและความดัน ปกติจะมีการปรับขึ้นเป็นอัตราก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทุกๆ 2 ปี นั่นหมายความว่าเครื่องดื่มที่มีสารความหวาน 10-14 กรัมต่อลิตร จะเสียภาษีเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 3 บาทต่อลิตร

บิ๊กเครื่องดื่มตั้งรับ “ภาษีความหวาน” ปั้น“เครื่องดื่มไร้น้ำตาล”ลงเชลฟ์

อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวทางฝั่งผู้ประกอบการนับว่ามีมูฟเมนต์ที่สำคัญ ที่ดูเหมือนจะมีการเตรียมตัวตั้งรับ ภาษีความหวาน ครั้งนี้ล่วงหน้าเพื่อลดแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับเรตภาษีครั้งนี้ เพราะอย่าลืมว่าในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาผลพวงจากวิกฤติโควิด เงินเฟ้อ สงคราม ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าทั้งวัตถุดิบ แรงงาน ค่าพลังงาน โลจิสติก ไปจนถึงแพกเกจจิ้งปรับตัวขึ้นยกแผง ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าที่เพิ่มคนจนผู้ประกอบทั้งรายเล็กรายใหญ่ เริ่มอยู่ไม่ทันจนต้องทยอยปรับราคาสินค้าในรอบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายมองว่า การปรับขึ้นของภาษีความหวานในครั้งนี้อาจไม่ส่งผลกระทบรุนแรงและกดดันให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นไปอีกหลังจากปรับราคากันมาแล้ว 1-2 รอบ นั่นเพราะหลายองค์กรมีการจัดการระบบซัพพลายเชนหลังบ้านได้ดีขึ้นบวกกับกระแสรักสุขภาพที่ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่บริโภคน้ำตาลน้อยลง

ก็พอทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสและหาทางออกโดยหันมาพัฒนาเครื่องสูตรน้ำตาลน้อยและสูตรไร้น้ำตาล แม้จะชูจุดขายว่าตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพที่มาแรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่พอจะทำให้หลีกเลี่ยงภาวะต้นทุนที่อาจพุ่งทยานขึ้นอีกจนอาจส่งผลต่อกำไรที่น้อยลง 

เป๊ปซี่ไม่มีน้ำตาล

"อชิต โจชิ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด สะท้อนให้ฟังว่า บริษัทได้ปรับแผนธุรกิจโดยเน้นไปที่ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เปิดตัวเครื่องดื่มไร้น้ำตาลและน้ำตาลน้อยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องจนสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มสุขภาพกลุ่มน้ำตาลน้อยและกลุ่มที่ไม่มีน้ำตาลมาได้2.6%  โดยเฉพาะเป๊ปซี่ไม่มีน้ำตาลที่เติบโตมากถึง19%

และหลังจากนี้จะพัฒนาน้ำอัดลมพลัสเพิ่มวิตตามินเพื่อเป็นทางเลือกสุขภาพให้กับผู้บริโภค ส่วนประเด็นการปรับภาษีความหวาน ยอมรับว่าที่ผ่านมาราคาน้ำตาลและค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ภาษีความหวานที่จะมีผลบังคับใช้ก็อาจส่งผลกระทบบ้างแต่ยืนยันว่าในปีนี้จะยังคงตรึงราคาสินค้า และจะพิจารณาขึ้นราคาสินค้าเป็นทางเลือกสุดท้าย เบื้องต้นบริษัทจะพยายามมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและใช้กลยุทธ์อื่นๆ รวมถึงการจัดการต้นทุนกระบวนการผลิตเข้ามาบริหารจัดการเป็นอันดับแรก

 “ชาร์ค อุเมะ โซดา”

ขณะที่โอสถสภาเอง เริ่มเบนเข็มธุรกิจขยายตลาดสู่กลุ่มคนเมืองสายรักสุขภาพโดยส่งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่น้ำตาลลงตลาดอย่างคึกคักทั้ง ซีวิท สูตรน้ำตาล 0% และล่าสุดเครื่องดื่ม “ชาร์ค อุเมะ โซดา” 0 แคล ไม่มีน้ำตาลเพื่อรุกสู่ตลาดน้ำอัดลมโดยเฉพาะเซกเมนต์เพื่อสุขภาพแบบไม่มีน้ำตาล ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและเติบโตต่อเนื่องในช่วงปีทีที่ผ่านมาถึง 100 % ด้านกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทยได้ปรับสูตร“สไปรท์” ไม่มีน้ำตาล สูตรใหม่กลิ่นเลมอน-ไลม์ ออกมาเจาะตลาดผู้บริโภค Gen Z ด้วยพร้อมกับเพิ่มระดับความซ่าขึ้นจากเดิม

ขณะที่ฟากบิ๊กเพลย์เยอร์เครื่องอย่าง “โออิชิ กรีนที” เองเปิดตัวผลิตภัณฑ์เซ็กเมนต์ใหม่น้ำตาล 0% โดยมี“โออิชิ กรีนที ฮันนี่เลมอน น้ำตาล 0%” เป็นโพรดักซ์นำร่องเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพเช่นกัน ส่วน เจ้าตลาดกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มในประเทศไทย อย่าง“เบอร์ดี้” เปิดตัวน้องใหม่ “เบอร์ดี้ แม็กซ์ โรสต์” กาแฟนม ไม่เติมน้ำตาล หวานพอดีเจาะกลุ่มคอกาแฟนมที่รักสุขภาพและต้องการดื่มกาแฟ

ไม่เฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มเท่านั้นที่ตื่นตัวแต่ฝั่งของโยเกิร์ต เอง เริ่มมีความร้อนแรงเช่นกัน เช่น “สหพัฒน์”ได้เปิดโยเกิร์ต “ริชเชส” (Richesse) สูตรใหม่ ไม่เติมน้ำตาลแต่ใช้หญ้าหวานแทน  

โยเกิร์ต “ริชเชส”

ดังนั้นหากประเมินจากมูฟเมนต์ของผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องซึ่งน่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเพราะมีปริมาณน้ำตาลในสินค้าสูงก็พอจะประมาณได้ว่า ภาษีน้ำความหมายฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษษยนนี้จะ “ไม่กระทบ” ผู้ผลิตมากนักเนื่องจากส่วนใหญ่ทยอยปรับลดปริมาณน้ำตาลลงต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารวมไปถึงการปรับราคาสินค้าขึ้นไปก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะไม่เห็นการขึ้นราคาสินค้าอีกระลอกในเร็วๆนี้