เลย์เทกซ์ผุดแบรนด์ใหม่ ‘SeniaCare’ ลุยตลาดสุขภาพรับสังคมผู้สูงอายุ

15 ธ.ค. 2565 | 07:26 น.

เลย์เทกซ์ ส่งแบรนด์ ‘SeniaCare’ ลุยตลาดสุขภาพชูจุดเด่นป้องกันแผลกดทับรับสังคมผู้สูงอายุลุยทำตลาดในประเทศ รองรับดีมานด์นิชมาร์เก็ตในอนาคต

ในช่วงปี 2550-2558  เลย์เทกซ์ (ประเทศไทย) เข้าสู่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยสินค้าหมอนยางพาราของปาเท็กซ์ หลังจากตลาดที่นอนและหมอนยางพารามีการเติบโตอย่างมากช่วงที่จีนเข้ามา จึงได้ก่อตั้งบริษัท เลย์เทกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อดูแลด้านการตลาดและส่งออกโดยเฉพาะ และได้มีการจำหน่ายสินค้าในประเทศดีลเลอร์และโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งการทำตลาดผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายไปทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตามในช่วงโควิด 19 ทำให้การส่งออกสินค้าลดลง ทำให้เลย์เทกซ์ต้องปรับกลยุทธ์รุกทำตลาดในประเทศมากขึ้น โดยนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วยให้การพัฒนาสินค้าจากยางพารา คิดค้นที่นอนยางพาราชนิดพิเศษ ป้องกันแผลกดทับ สำหรับผู้ป่วยพักฟื้นและผู้ป่วยติดเตียง ภายใต้แบรนด์ “SeniaCare” ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรในประเทศไทย และสิทธิบัตรในอีก 6  ประเทศ คือ รัสเซีย, มาเลเซีย, จีน, เยอรมัน, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ และอยู่ในระหว่างการยื่นขอสิทธิบัตรในอีก 8 ประเทศ

นายณัฐพัฒน์ นิธิอุทัย กรรมการบริษัท ปัตตานีอุตสาหกรรม (1971) จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เลย์เทกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ด้วยประสบการณ์ในตลาด 50 ปีที่ผ่านมา เลย์เทกซ์มีการปรับตัวอยู่เสมอ เนื่องจากคุณพ่อเป็นดร.ด้านยางและโพลิเมอร์คนแรกของไทย ที่จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ทำให้ภายในโรงงานมีนักวิจัยและแลป ที่พัฒนาโดยนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วยให้การพัฒนาสินค้าจากยางพารา เช่น Senia Care ที่นอนสำหรับผู้ป่วยติดเตียง, โพลิเมอร์เจล ที่ใช้รองแขน ขา หรือรองศีรษะผู้ป่วยในห้องผ่าตัด, ผิวหนังเทียม สำหรับนักศึกษาแพทย์ใช้ฝึกเย็บแผล, หุ่น CPR ที่ใช้ฝึกช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ทั้งหุ่นเด็ก หุ่นผู้ใหญ่ หุ่นทารก, ชุดสอนการแก้อาการสำลัก

 

โดยมีแผนพัฒนาแบรนด์ธุรกิจใหม่เกี่ยวกับการนอนอย่างครบวงจร เปิดตลาดกลุ่มนิชมาร์เก็ตเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงเจาะตลาดลูกค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ จึงมั่นใจว่าด้วยคุณภาพของสินค้าและแบรนด์จะสามารถครองใจลูกค้าในประเทศไทยไม่ยาก”  

ทั้งนี้ที่นอนยางพาราป้องกันแผลกดทับนวัตกรรมใหม่ SeniaCare  นับเป็นที่นอนชนิดเดียวที่สามารถลดแรงกดทับได้ต่ำกว่า 70 มิลลิเมตรปรอท จึงสามารถป้องกันการเกิดแผลกดทับได้จริง โดยการป้องกันการเกิดแรงกดทับที่ต้นเหตุ ซึ่งแตกต่างจากที่นอนลมป้องกันแผลกดทับแบบเดิมที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยพักฟื้นและผู้ป่วยติดเตียง