ตื่นรับ Food Security วัตถุดิบส่อขาดแคลน ทำต้นทุนอาหารพุ่ง

29 ต.ค. 2565 | 08:30 น.

ตื่นตัวรับ Food Security วัตถุดิบส่งสัญญาณขาดแคลน จากวิกฤตภัยธรรมชาติ โรคระบาด สงคราม แบรนด์ดัง ชี้ราคาเนื้อหมู ไก่ แพงอีก 2-3 ปี โปรตีนพื้นฐานยังเป็นที่ต้องการในระยะยาว แม้จะมี Alternative Protein

ความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ นอกจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจนทรัพยากรอาหารอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว สภาพแวดล้อม อากาศ โรคระบาด เศรษฐกิจยังส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารในปัจจุบันด้วย ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกหันมาตระหนักถึงการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการด้านอาหารรายใหญ่ที่เริ่มเดินหน้าแล้ว

              

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากย้อนกลับไปมองถึงทรัพยากรภายในประเทศ ปัจจุบันวงจรการผลิตสุกรประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโรค ASF มากว่า 2 ปี ทำให้ปริมาณการผลิตสุกรตลอดทั้งวงจรลดลงค่อนข้างมากโดยเฉพาะกับผู้เลี้ยงรายย่อยที่อาจจะไม่มีกระบวนการจัดการฟาร์มที่ดี ทำให้เกิดโรคระบาดได้

 

อย่างไรก็ดีการฟื้นกลับของกระบวนการต้องใช้เวลาเพราะต้องเพิ่มการผลิตตั้งแต่การเพาะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ กว่าจะไปสร้างเป็นลูกและจนกว่าลูกจะโต ซึ่งคาดการณ์ว่า กว่าระดับสุกรจะกลับเข้ามาถึงระดับที่ใกล้เคียงก่อนจะมีโรคระบาดอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้นเชื่อว่าราคาสุกรปัจจุบันจะเป็นราคากำหนดใหม่จะคงอยู่ในระดับนี้ต่อไป

ตื่นรับ Food Security วัตถุดิบส่อขาดแคลน ทำต้นทุนอาหารพุ่ง               

ส่วนภาวะไก่เนื้อ ต้องพึ่งพาการนำเข้าพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จากต่างประเทศ เพราะภาวะ Food Security ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่เกิดขึ้นทั้งโลก จากการที่เราติดต่อกับซัพพลายเออร์ ทางด้านพันธุ์ไก่อย่างต่อเนื่องทำให้ทราบว่าทั่วโลกยังมีดีมานด์ เพราะฉะนั้นปริมาณลูกไก่ในประเทศไทยจากนี้ไปจะไม่มีโอกาสสูงขึ้นแบบมีนัยยะสำคัญ ใครที่มีลูกไก่อยู่ปัจจุบันก็ต้องบริหารมูลค่าสูงสุด เพราะฉะนั้นราคาไก่เนื้อในปัจจุบันยังสามารถที่จะคงราคานี้ไว้ได้ในระดับที่ดีพอสมควร

 

“มองว่าในปี 2566 น่าจะเห็นทิศทางราคาเนื้อสัตว์ยังคงอยู่ในระดับที่สูงแบบนี้ต่อไปโดยเฉพาะฝั่งของเนื้อหมูเองที่ซัพพลายในตลาดหายไปพอสมควรจากโรค ASF”

              

อีกประเด็นที่สำคัญคือ Climate change จะมีผลกระทบในมุมมองธุรกิจโปรตีนว่าเป็นตัวก่อปัญหา แล้วทำไมไม่หันไปหา Alternative Protein ซึ่งเราติดตามสิ่งเหล่านี้ชัดเจนและมองเรื่องของเทรนด์ประชากรโลกระยะยาว แน่นอนว่าความต้องการอาหารสดเพิ่มในระยะยาวก็อาจจะต้องถูกเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆเช่น Alternative Protein ไม่ว่าจะเป็นรูปของ Plant based , Cell based หรือ Mycoprotein เป็นต้น

ตื่นรับ Food Security วัตถุดิบส่อขาดแคลน ทำต้นทุนอาหารพุ่ง               

สำหรับเบทาโกรปัจจุบันการจัดการอุตสาหกรรมมีกระบวนการตั้งแต่การเตรียมพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ไปจนถึงลูกของสัตว์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกหมูเนื้อ ลูกไก่เนื้อและผลิตเป็นไก่เนื้อซึ่งระบบของเบทาโกรมีการติดตามข้อมูลและสำรวจข้อมูลอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญในการที่จะติดตามเทคโนโลยีเหล่านี้และลงทุนในธุรกิจเหล่านี้เพื่อเพิ่มพอร์ตโฟลิโอของสินค้าเข้ามาในบริษัท เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต

              

ส่วนเรื่องโปรตีนพื้นฐานที่เราดำเนินอยู่จากสถิติทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่พอสมควรทั้งโลก แต่ไม่ได้สูงมากถ้าเทียบกับ Alternative Protein แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นธุรกิจโปรตีนพื้นฐานไม่มีวันถูกดิสรัปท์ เพราะฉะนั้นในระยะยาว เชื่อว่าหมู ไข่ ไก่ ปลา เหล่านี้เองยังเป็นโปรตีนสำหรับมนุษยชาติต่อไปแน่นอน

              

ปัจจุบันโรงงานแปรรูปไก่เนื้อของเบทาโกรมีกำลังการผลิตประมาณ 183 ล้านตัวต่อปี หรือ 7 แสนตัวต่อวัน โรงงานแปรรูปสุกร สามารถผลิตสุกรและส่งมอบสุกรแปรรูป 2.6 ล้านตัวต่อปี ส่วนโรงคัดแยกไข่ไก่มีกำลังการผลิตประมาณ 1,500 ล้านฟองต่อปี โรงงานอาหารแปรรูปและไส้กรอกมีกำลังการผลิต 1.4 แสนตันต่อปี

ตื่นรับ Food Security วัตถุดิบส่อขาดแคลน ทำต้นทุนอาหารพุ่ง               

“นอกจากธุรกิจหลักในปัจจุบันเรายังมองถึงโอกาสที่เบทาโกรจะต้องเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นสร้างโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ หรือ New S Curve โดยใช้เทคโนโลยีมาขยายอายุของผลิตภัณฑ์และพยายามมุ่งเน้นในการสร้างโอกาสในการพัฒนาแหล่งโปรตีนทางเลือกเช่น แพลนต์เบส โปรตีน ภายใต้แบรนด์ Meatly ซึ่งวางจำหน่ายและส่งเข้าร้านอาหารชั้นนำแล้ว และยังมองหาโอกาสที่จะเพิ่มศักยภาพของ value chain ทั้งวงจร

              

รวมทั้งการสร้างแบรนด์ในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกงซึ่งแบรนด์ของเบทาโกรสามารถจัดจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำมากว่า 10 ปีและปัจจุบันได้การรับรองเป็นบริษัทแรกจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้สามารถส่งออกไก่สดแช่เย็นทางเครื่องบินเข้าประเทศสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว เพราะสิงคโปร์มีความต้องการทางด้านอาหารเพิ่มมากขึ้นทำให้แบรนด์ของเราเติบโตอย่างมากในสิงคโปร์ และในภาวะที่มีการขยายตัวทางด้านของดีมานด์จากทั่วโลกหลังโควิด เราก็จะเพิ่มการส่งออกมากกว่า 20 ประเทศ”

ตื่นรับ Food Security วัตถุดิบส่อขาดแคลน ทำต้นทุนอาหารพุ่ง               

ด้านดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอำพลฟูดส์ กล่าวว่า วัตถุดิบส่วนใหญ่ในไลน์การผลิตของบริษัทมาจากภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีปัญหา เพราะคนงานไม่สามารถเข้าพื้นที่ไปเก็บมะพร้าวในช่วงเวลาฝนตก ขณะที่ล้งก็พยายามระบายสต๊อกวัตถุดิบออกก่อนที่น้ำจะท่วม คนงานกะเทาะเปลือกมะพร้าวเพื่อนำมาส่งโรงงานก็ทำงานน้อยลง ฉะนั้นช่วงนี้จะมีปัญหาวัตถุดิบเข้ามาในไลน์การผลิตน้อยลง แต่เชื่อว่าจะเป็นในระยะสั้นเฉพาะช่วงที่ฝนตกมีเท่านั้นซึ่บริษัทมีการนำเข้าวัตถุดิบบ้างเพื่อนำมาชดเชย

              

อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาการส่งออกมีผลกระทบอย่างมากเพราะหลายประเทศล็อกดาวน์ ตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ค่าขนส่งแพงขึ้น 5 เท่าจนทำให้การส่งออกชะงักเพราะลูกค้าปลายทางรับไม่ได้กับราคาค่าขนส่งที่แพงขึ้น บางตู้เป็นสินค้าอาหารที่ราคาไม่แพงมากมูลค่าสินค้าในตู้ถูกกว่าค่าขนส่ง และในไตรมาส 2 ปีนี้ยังเจอเรื่องสงครามและค่าน้ำมันขึ้น เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเพราะมีรถกระจายสินค้า 400-500 คันทั่วประเทศทำให้มีผลกระทบกับต้นทุน

 

ในส่วนของการส่งออกบริษัทไม่ได้ปรับราคาสินค้าขึ้น เพราะค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นผู้รับปลายทางจะต้องเป็นคนรับภาระนั้นซึ่งลูกค้าปลายทางนำไปขายต่อยาก ทำให้สั่งน้อยลงหรือหยุดสั่ง ส่วนในประเทศผลิตภัณฑ์ของบริษัทไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมราคาแต่จัดอยู่ในกลุ่มที่จับตา ซึ่งมีการปรับขึ้นราคาในสินค้าบางชนิดเช่น แบรนด์กู๊ดไลฟ์ แต่ไม่ได้ปรับในส่วนของกะทิแต่อย่างใด เพราะต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงปีนี้กำลังซื้อหดตัว บวกกับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,830 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565