Health Wellness & Wellbeing โอกาสธุรกิจไทย สร้างเม็ดเงินสะพัด

21 ส.ค. 2565 | 09:45 น.

ชี้โอกาสธุรกิจ Health Wellness & Wellbeing สดใสหลังสถานการณ์โควิดซา ไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว สร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าประเทศมหาศาล แนะธุรกิจจับเทรนด์โลกที่หันดูแลสุขภาพแบบ Self-Care

หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เริ่มมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ล่าสุดมีรายงานว่าปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่จะ register เข้ามาในไทยเพื่อดูแลสุขภาพกว่า 3 หมื่นราย ซึ่งรัฐบาลเองเริ่มมีการส่งเสริมเมดิคอล ทัวริซึ่มอย่างจริงจังมากขึ้น โดยพยายามแก้ไขระบบพื้นฐานเช่นวีซ่า เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งตัวคนไข้และผู้ติดตาม

 

ซึ่งในช่วงแรกคนไข้ต่างชาติที่เข้ามารักษาในไทยจะเป็นกลุ่มตะวันออกกลางเป็นหลัก รองลงมาเป็นยุโรป ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าคนไข้จากประเทศจีนจะเป็นลูกค้ารายใหญ่และเป็น target หลักของไทยเริ่มทยอยเข้ามาเมื่อมีการเปิดประเทศ จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมหาศาล

              

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงก่อนโควิดทั่วโลกชื่นชมประเทศไทยด้านการรักษาและสุขภาพที่ดี ส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานทางการแพทย์ของไทยที่อยู่ในระดับสูง โรงพยาบาลในไทยมากกว่า 70 โรงพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ถูกกว่าอเมริกาหรือยุโรปมาก รวมทั้งคนไทยก็มีเซอร์วิสมายด์ที่ดี หลังการดูแลสุขภาพยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวในโลเคชั่นที่สวยงามและอาหารอร่อย

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร               

“ในยุค new normal เราจะเน้น เรื่อง healthcare 3 เรื่องคือ 1. Health สุขภาพดี 2. Wellness สุขภาวะที่ดีสมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจอารมณ์ และ 3. Wellbeing ความอยู่ดีมีสุข ซึ่งปัจจุบันมีอินโนเวทีฟและเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยอย่างมากมาย และประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในเรื่องของ Wellness ที่ไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้

 

ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ Wellness tourism 5.5 ล้านคนและประเทศไทยติดอันดับ 3 ที่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเดินทางเข้ามาใช้บริการรักษา ในอนาคตถ้าเราสามารถตอบโจทย์ future healthcare เน้นการเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ได้ Wellness tourism จะกลายเป็น business ใหญ่ที่สร้างมูลค่าและเม็ดเงินให้กับประเทศได้”

Health Wellness & Wellbeing โอกาสธุรกิจไทย สร้างเม็ดเงินสะพัด

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันภาพของการรักษาสุขภาพเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากการถูก ดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่น จนเกิดดิสรัปชั่นวงการ สุขภาพ โดยเน้นไปที่พรีเวนทีฟหรือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค และมีการย้ายฐานการรักษาจากเดิมที่อยู่ในสถานพยาบาล มาอยู่ที่บ้านในลักษณะของ Self-Care โดยแนวโน้มใหญ่ของการดูแลสุขภาพภายใต้ Self-Care ประกอบไปด้วย

1. Health promotion and prevention ต้องเสริมสร้างสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค

2. Personalelized healthcare การรักษาจะไม่เหมารวมเหมือนในอดีตเพราะมีเทคโนโลยีที่สามารถบอกได้ว่าแต่ละคนจะต้องใช้ยาตัวไหนถึงจะได้ผลที่เหมาะกับบุคคล

3. Digital healthcare ซึ่งจะไม่ได้มาแทนมนุษย์แต่จะมาช่วยเสริมการทำงานของแพทย์ พยาบาลอย่างมหาศาลและทำให้การดูแลสุขภาพดีขึ้น

              

ขณะที่ “แมคคินซี แอนด์ คอมพานี” เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 6 มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ Self-Care ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม Health & Wellness ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยควรใช้เป็นพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ประกอบด้วย

 

1. Better Health มีสุขภาพที่ดี เรากำลังก้าวสู่ยุคที่ผู้บริโภคสามารถกำหนดเรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง และจะไปหาหมอเมื่อจำเป็นต้องหาจริงๆ คนส่วนใหญ่จะเลือกดูแลตัวเองเพราะค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาในโรงพยาบาล และมีการสั่งอุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างมากขึ้นเพื่อนำมาใช้ดูแลตัวเองได้ที่บ้าน

              

2. Better Fitness การดูแลสมรรถภาพของร่างกายเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ในช่วงโควิดที่ผ่านมาผู้คนไม่สามารถเดินทางไปสถานที่ออกกำลังกายได้ทำให้ทำให้คอร์สออกกำลังกายออนไลน์และแอปพลิเคชันสุขภาพต่าง ๆได้รับความนิยมอย่างมาก

Health Wellness & Wellbeing โอกาสธุรกิจไทย สร้างเม็ดเงินสะพัด

3. Better Nutrition มีโภชนาการที่ดี จากนี้ไปผู้บริโภคต้องการไม่เพียงแต่อาหารที่มีรสชาติดี แต่จะต้องช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางด้านสุขภาพ ซึ่งผู้บริโภคมากกว่า 1 ใน 3 ยอมจ่ายเงินมากขึ้นใน แอปพลิเคชันด้านโภชนาการ โปรแกรมควบคุมอาหารมากขึ้นในปีหน้า                        

              

4. Better Appearance มีรูปลักษณ์ที่ดี ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจกับการดูแลรูปลักษณ์ของตัวเองและต้องการ แสดงความเป็นตัวเองออกมา บริการที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาเช่นคือเสริมความงามโดยไม่ต้องผ่าตัด

 

5. Better Sleep การนอนหลับที่ดีเป็นมิติใหม่ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ซึ่งตอนนี้มีแอปพลิเคชันสำหรับแทรคการนอนและเชื่อมโยงไปสู่โปรแกรมการออกกำลังกายว่าควรจะออกกำลังกายแบบไหนนานแค่ไหน

              

6. Better Mindfulness สุดท้ายเรื่องของจิตใจสำคัญมากเพราะสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลก ทำให้ประชากรทั่วโลกมีความเครียด ผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมการมีสติหรือความสงบทางใจ เริ่มเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น                 

              

“Self-Care เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะหลังโควิดชีวิตจะไม่เหมือนเดิม เราต้องกลับมาดูแลตัวเอง และต้องช่วยกันทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องของ Self-Care ที่กำลังเป็นแนวโน้มใหญ่ของ Health Wellness&Wellbeing และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะยังมีความต้องการและมีกำลังซื้อที่สูง ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือระหว่างโควิด โรงพยาบาลเป็นเซกเตอร์เดียวที่รายได้เพิ่มขึ้น

              

ในขณะที่ธุรกิจเซกเตอร์อื่นรายได้ลดลงทั้งหมด ยิ่งหลังโควิดคนจะดูแลตัวเองมากขึ้น ซึ่งมีการประเมินการว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า Health Wellness&Wellbeing จะมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งปัจุบันอยู่ที่ 4.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและเติบโต 5-10% ตลอดเวลา ตอนนี้บริษัทใหญ่ๆในเมืองไทยทุ่มทุนเข้าซื้อโรงพยาบาล หรือลงทุนสร้างโรงพยาบาลจำนวนมาก”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,811 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565